สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า จันทรุปราคาบางส่วนจะเกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันออกพรรษาที่ 29 ต.ค. นี้ เริ่มคราสตั้งแต่ช่วง 02:35 น. สิ้นสุด 05:26 น.
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ชวนแหงนหน้ามอง ‘จันทรุปราคาบางส่วน’ ที่จะคราสกินในช่วงเช้ามืดของวันที่ 29 ต.ค. วันออกพรรษา
จันทรุปราคาครั้งนี้สามารถสังเกตได้หลายบริเวณได้แก่ ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แปซิฟิก แอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
สำหรับประเทศไทย NARIT แจ้งว่า จะเริ่มสังเกตจันทรุปราคาได้ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 01:01 คราสกินยาวไปจนถึงช่วง 05:26
ไทม์ไลน์จันทรุปราคา (9 ต.ค.) จาก NARIT
สรุปแล้ว เวลาที่จะเกิดจันทรุปราคาบางส่วนวันที่ 29 ต.ค. 66 อยู่ราว 1 ชั่วโมง 17 นาที
ปรากฏการณ์จันทรุปราคาหรือ Lunar Eclipse เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ได้โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ทำให้ดวงจันทร์ไม่ได้รับแสงที่สะท้อนจากดวงอาทิตย์ เพราะมีโลกตั้งขวางทิศทางของแสงอยู่
จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นในช่วงขึ้น 14 – 15 ค่ำ ที่พระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น จันทรุปราคาเริ่มต้นเมื่อดวงจันทร์ค่อย ๆ เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งดวงจันทร์โดนเงามืดจากโลกบังเต็มดวง
เนื่องจากดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกเรื่อย ๆ ตำแหน่งของดวงจันทร์ที่ถูกเงามืดของโลกบดบังสามารถจำแนกได้หลัก ๆ ดังนี้
- จันทรุปราคาแบบเต็มดวง (Total Eclipse) คือ ดวงจันทร์โคจรไปอยู่ในเงามืดของโลกแบบพอดิบพอดี นั่นทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ที่เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลกจะถูกหักเห เมื่อพระจันทร์เต็มดวง เราจึงเห็นพระจันทร์มีส้มหรือสีแดงอิฐ หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ พระจันทร์สีเลือด
- จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Eclipse) คือ ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก
- จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Eclipse) คือ ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืด นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงเห็นดวงจันทร์ที่มีสำคล้ำ ๆ ดำ ๆ นั่นก็เพราะดวงจันทร์เคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งที่มีแสงน้อยนั่นเอง
ในปีนี้ ได้เกิดจันทรุปราคาไปแล้ว 1 ครั้งคือ จันทรุปราคาเงามัว (6 พ.ค.) จันทรุปราคาบางส่วน (29 ต.ค.) จึงถือเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยปกติ ใน 1 รอบปีจันทรุปราคาสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 – 5 ครั้ง แต่ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก
ล่าสุดที่จันทรุปราคาเกิดขึ้นหลายครั้งใน 1 รอบปีก็คือ ปี 2563 ที่เกิดจันทรุปราคาถึง 4 ครั้งและเป็นจันทรุปราคาเงามืดทั้งหมด
จันทรุปราคา 2563
- 10 ม.ค. 63 (จันทรุปราคาเงามืด)
- 5 มิ.ย. 63 (จันทรุปราคาเงามืด)
- 5 ก.ค. 63 (จันทรุปราคาเงามืด)
- 30 พ.ย. 63 (จันทรุปราคาเงามืด)
เราทราบกันถ้วนทั่วแล้วว่าฝุ่นสามารถส่งผลกระทบในแง่ลบของสุขภาพของมนุษย์ได้ ยิ่งตอนนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วย สุขภาพจึงเป็นเรื่องที่ต้องพึงระวัง
แต่นอกเหนือจากผลกระทบที่มนุษย์ได้รับแล้ว ฝุ่นบางส่วนก็ถูกพัดลอยไปตามลมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ลอยเกาะกันเป็นแผงอยู่บนนั้นและทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ส่องลงมายังพื้นโลกได้ไม่เต็มที่
และนั่นรวมถึงการรับชมจันทรุปราคาบางส่วนนี้ด้วย ชั้นฝุ่นที่เกิดขึ้นจะทำให้แสงวาบบนดวงจันทร์สว่างไสวน้อยลง เนื่องจากสายตามนุษย์ถูกฟิลเตอร์ด้วยฝุ่นเอาไว้อยู่หนึ่งชั้น
แถมฝุ่นยังไปบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ ไม่ให้สามารถเดินทางผ่านโลกไปยังดวงจันทร์ได้เต็มที่ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมปริมาณของฝุ่นบนชั้นบรรยากาศถึงมีผลต่อแสงวาบบนดวงจันทร์
ทั้งนี้ทั้งนั้น เช้ามืดวันออกพรรษา 29 ต.ค. นี้ ใครตื่นไหวก็อย่าลืมแหงนหน้ามองฟ้ารับชมจันทรุปราคาบางส่วนได้ แต่ถ้าใครตื่นไม่ไหวก็สามารถรับชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ที่เฟสบุ๊คของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ Narit ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/NARITpage
ที่มา: NewScientist
ข่าวที่เกี่ยวข้อง