จากข่าวสุดเศร้าเกี่ยวกับการเสียชีวิตของ พลายตุลา ลูกช้างป่าพลัดหลงแม่ ที่ได้รับการดูแลนานถึง 10 เดือน สัตวแพทย์เผยสาเหตุการเสียชีวิตมาจากภาวะกระดูกบางมากซึ่งไม่ได้รับแคลเซียมจากนมแม่จึงทำให้อ่อนแอ มีการชันสูตรพร้อมเก็บตัวอย่างเพื่อประโยชน์ในการศึกษาต่อไป
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจาก นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) ถึงกรณีการเสียชีวิตของลูกช้างป่า "พลายตุลา"
นายสัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒน์ ระบุว่าที่ผ่านมา ลูกช้างป่าพลัดหลง ตุลา มีอาการป่วยเนื่องจากยืนหลับ ไม่ยอมล้มตัวลงนอนติดต่อกันหลายวัน จนมีอาการเจ็บและอักเสบบริเวณขาหน้าทั้ง 2 ข้าง รวมถึงขาหลังขวาที่มีการก้าวเดินผิดปกติ จนเริ่มมีอาการทรุดลง ได้มีการระดมทีมสัตวแพทย์จากหลายหน่วยงานทำการรักษาและอนุบาล “พลายตุลา” อย่างใกล้ชิด
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
เปิดสาเหตุการตาย ช้างป่า "ตุลา" เกิดจากภาวะบาดเจ็บรุนแรงจากโรคกระดูกบาง
เมื่อคนเผชิญหน้าช้างป่าจากกรณีเขาใหญ่ ร่วมสร้างกฏการอยู่ร่วมกันปลอดภัย
สัตวแพทย์ผู้ดูแลพลายตุลาได้เผยว่า ลูกช้างมีภาวะกระดูกบางมากโดยเฉพาะขาหน้าสองข้างมีลักษณะของการพรุนของกระดูกจนทำให้เค้าไม่ล้มตัวลงนอน พยายามพยุงตัวอยู่นิ่งๆ จากเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นกรณีศึกษาทำให้เราได้เรียนรู้และรู้จักวิธีการในการดูแลลูกช้าง ซึ่งคิดว่าในอนาคตอาจมี Case ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก และน้องตุลาเป็นเคสแรกที่ทางสัตวแพทย์ทำการชันสูตรอย่างละเอียด มีการเก็บชิ้นเนื้อ อวัยวะภายซึ่งดูแล้วก็ไม่ปกติ ส่งเข้าห้องแล็ปเพื่อที่จะเก็บข้อมูลต่างๆให้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
สาเหตุหลักในการเสียชีวิต เกิดจากภาวะกระดูกบางทั่วร่างกายโดยเฉพาะบริเวณขาหน้า (ด้านบน) ทั้งสองข้าง พบการสลายของกระดูก ทำให้กระดูกแตกหักละเอียด ผิดรูป ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการไม่ล้มตัวลงนอน และเล่นกับพี่เลี้ยงตามปกติ อวัยวะภายในร่างกายพบว่า ลำไส้มีความแดงผิดปกติ และสัตวแพทย์ได้ทำการเก็บตัวอย่างอวัยวะทั้งหมด รวมถึงกระดูกของพลายตุลา ส่งทางห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์พัฒนาการทางสัตวแพทย์ภาคตะวันออก กรมปศุสัตว์
สัตวแพทย์ยังเพิ่มเติมว่า เนื่องจากตอนที่เจอพลายตุลานั้นยังเล็กมากๆ น้องยังไม่ได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ ทำให้มีร่างกายอ่อนแอ แม้เราจะพยายามเสริมแคลเซียม แต่แคลเซียมไม่ขึ้น ซึ่งการที่ลูกช้างป่าผลัดหลงกับแม่ตั้งแต่ยังเล็กๆ ไม่ได้กินนมแม่ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรงเท่าที่ควร
ที่มา : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช