svasdssvasds

ถอดบทเรียนไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในสเปน ต้นตอคือพลังงานสะอาด?

ถอดบทเรียนไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในสเปน ต้นตอคือพลังงานสะอาด?

ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในสเปนอาจไม่ใช่วิกฤติฉุกเฉินครั้งสุดท้ายมราจะเกิดขึ้น แล้วหากเป็นประเทศไทย จะต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร?

จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในสเปนที่ส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ และลุกลามไปยังประเทศอื่นโดยรอบ และยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้อย่างชัดเจน หลังมีหลายทฤษฎีที่คาดว่าอาจเกิดจากการก่อวินาศกรรมหรือโจมตีไซเบอร์ หรือเกิดจากปรากฏการณ์ที่พบได้ยาก เช่น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ความชื้น และสนามแม่เหล็กโลกอย่างฉับพลัน ซึ่งกระทบต่อเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าโดยตรง และอีกหลายสาเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้

ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล  รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน และอาจารย์ประจำภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อม  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่า หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจและเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ข้างต้น คือการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนพลังงานสะอาดทั้งในสเปนและโปรตุเกสที่มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป (43%) นอกจากนี้ ยังมีการส่งต่อพลังงานไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นที่มาของผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศโดยรอบ

ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล  รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน และอาจารย์ประจำภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อม  คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดังนั้น ระบบเชื่อมโยงกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากเมื่อสัดส่วนพลังงานสะอาดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ก็ต้องมีการบริหารจัดการและสร้างสมดุลระหว่าง 4 ส่วนประกอบ ได้แก่ 

1. ส่วนผลิตที่กระจายตัวและหลากหลาย 
2. ส่วนการใช้งาน ที่ปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ รวมถึงความต้องการพลังงานสะอาดที่สูงขึ้นตามเป้าหมาย Paris agreement 
3. ส่วนคุณภาพของระบบส่ง ที่ต้องมีการลงทุนและเชื่อมโยงระหว่างกันในแบบที่ซับซ้อนและต้องทันต่อเหตุการณ์
4. ส่วนการคาดการณ์ / การควบคุมการกักเก็บพลังงาน และการซ่อมบำรุง จึงต้องมีการลงทุนและให้ความสำคัญอย่างจริงจัง

ถอดบทเรียนไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในสเปน ต้นตอคือพลังงานสะอาด?

เมื่อพิจารณาร่วมกับปรากฎการณ์ทางธรรมชาติและสภาพอากาศสุดขั้วในปัจจุบัน ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบไฟฟ้า และความจำเป็นของโครงสร้างพื้นฐานการบริหารจัดการพลังงานสะอาดทั่วโลก   

คำว่า Energy Trilemma หรือ 'สมดุลพลังงานใน 3 มิติ' คือ สะอาด ไม่ดับ ราคารับได้ นั้น จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของทุกภาคส่วนบนโลกใบนี้ เพราะจากเหตุการณ์ข้างต้น ได้แสดงให้พวกเราเห็นอย่างชัดเจนถึงคำถามที่ว่า "ถ้าไฟฟ้าดับ เราจะอยู่กันอย่างไร?"

ถ้าขยับกลับมาที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศสุดขั้ว กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปรากฏการณ์ผิดปกติ ส่งผลต่อความเสี่ยงที่ทำให้เหตุการณ์ไฟดับวงกว้างกลายเป็นเรื่องธรรมดาในอนาคต

ประเทศไทยของเราจึงควรใช้โอกาสนี้ในการเรียนรู้ เตรียมความพร้อม และพิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โดยเมื่อมองถึงเป้าหมายพลังงานสะอาด 50% ณ ปี 2050 รวมถึงความต้องการพลังงานสะอาดที่เพิ่มสูงขึ้น คู่ขนานกับปัจจัยความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

สำหรับในระดับบุคคลและครอบครัว เราทำอะไรได้บ้าง? 

1. รวมกันใส่ใจและจริงจังกับการบริโภคพลังงานและทรัพยากรต่างๆ อย่างยั่งยืน ใช้อย่างเหมาะสม เลือกใช้สิ่งที่สะอาดและดีต่อโลก ดูแลอุปกรณ์รอบๆ ตัวเราให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้ความสำคัญและลงทุนกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งทุกคนในครอบครัวสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ 

2. การเตรียมความพร้อมของบุคคลและชุมชน กุญแจสู่ความอยู่รอดเมื่อระบบไฟฟ้า การสื่อสาร และการขนส่งอาจล่มพร้อมกันในอนาคต การเตรียมตัวล่วงหน้าในระดับบุคคลจึงเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมหาศาล โดยหลักการเตรียมพร้อมเบื้องต้นที่สำคัญ 6 ข้อ ได้แก่ 

1. ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉิน ควรมี เงินสด ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง น้ำดื่ม อาหารแห้ง เครื่องชาร์จมือถือพลังงานแสงอาทิตย์ วิทยุฉุกเฉิน รวมถึงยารักษาโรคในบ้านเสมอ อาจมีการเตรียมกระเป๋าเดินทางฉุกเฉินไว้เพื่อเตรียมพร้อมเดินทางอย่างรวดเร็ว

 2. แผนการติดต่อสื่อสาร เตรียมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของครอบครัว เพื่อนบ้าน และหน่วยงานรัฐ เผื่อในกรณีเครือข่ายมือถือใช้งานไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงเรียน และโรงพยาบาล

3. ความรู้พื้นฐานการอยู่รอด เช่น วิธีการกรองน้ำเบื้องต้น วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการหาทางออกเมื่อระบบขนส่งล่ม เราจะเดินทางกลับบ้านอย่างไร

4. การเตรียมอาหารและน้ำของแต่ละคนในครอบครัว สำหรับการดำรงชีวิตอย่างน้อย 3-5 วัน 

5. การเข้าใจข่าวสาร ติดตามสถานการณ์จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ และระวังการแพร่กระจายของข่าวปลอม

6. การทำความเข้าใจกับระบบสำรองในชุมชน รู้ตำแหน่งศูนย์อพยพ จุดจ่ายน้ำสำรอง และแผนฟื้นฟูของท้องถิ่น

เมื่อภัยธรรมชาติไม่ธรรมดาอีกต่อไป เราก็ต้องเปลี่ยนมาตรฐานความพร้อมของเรา เหตุการณ์ไฟฟ้าดับในหลายประเทศในยุโรปครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงวิกฤตเฉพาะหน้า แต่เป็นสัญญาณเตือนถึงโลกอนาคตที่โครงสร้างพื้นฐานและประชาชนต้องปรับตัวพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ผิดปกติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การสร้างระบบไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น และการสร้างวัฒนธรรมการบริโภคที่ยั่งยืนและเตรียมพร้อมในระดับบุคคล จะเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มโอกาสอยู่รอด และลดผลกระทบต่อสังคมโดยรวม