พาไปรู้จัก ‘the Great Solar Wall of China’ ฟาร์มโซลาร์เซลล์ยักษ์ใหญ่แดนมังกร ที่จ่ายไฟให้ปักกิ่งได้ทั้งเมือง และช่วยฟื้นฟูทะเลทรายไปพร้อม ๆ กัน
ทะเลทรายคู่ปู้ฉี ในมองโกเลีย มีชื่อเสียงเรียงนามว่าเป็น ‘sea of death’ เดิมเป็นพื้นที่รกร้าง ไร้ชีวิตชีวา ทว่า มีสภาพอากาศสดใส พื้นที่ราบ อยู่ใกล้กับศูนย์กลางอุตสาหกรรม ในแง่ทำเลแล้ว นี่เป็นจุดที่เหมาะอย่างมากในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
ด้วยความหูไวตาไว จีนจึงเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าว ให้กลายเป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์ขนาดยักษ์ มีความยาว 400 กิโลเมตร และกว้าง 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเปาโถว และบายันนูร์ ทางตอนใต้ของแม่น้ำเหลือง
เมื่อสร้างเสร็จ ฟาร์มโซลาร์เซลล์แห่งนี้จะมีกำลังการผลิตสูงสุด 100 กิกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับจ่ายไฟให้กับ ‘กรุงปักกิ่ง’ ทั้งเมือง โดยปัจจุบัน ปักกิ่งมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 22 ล้านคน ใช้ไฟฟ้าประมาณ 135,800 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) (ปี 2023)
รูป 2 ใบนี้ ถูกถ่ายโดยดาวเทียม Landsat 9 และ 9 ของ NASA ซึ่งชี้ให้เห็นพัฒนาการที่รุดหน้าอย่างมากของโปรเจกต์นี้ จนได้รับการขนานนามว่า ‘the Great Solar Wall of China’ หรือแปลเป็นไทยให้ได้อรรถรสก็คือ ‘กำแพงโซลาร์เซลล์ ณ แดนมังกร’
ข้อดีของ ‘the Great Solar Wall of China’ ก็คือ หากกรุงปักกิ่งไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามากแตะระดับเท่าที่ผลิตได้ ฟาร์มโซลาร์เซลล์แห่งนี้ จะสามารถจ่ายไฟให้กับเมืองรอบ ๆ ได้อีกด้วย
นี่คือแนวคิดอีกขั้น ที่ไม่ใช่นึกแต่ว่าจะผลิตไฟฟ้าได้มากแค่ไหน แต่จะอยู่ร่วมเป็นเนื้อเดียวกับระบบนิเวศได้อย่างไร นักวางแผนของโปรเจกต์นี้ คาดการณ์ว่า ฟาร์มโซลาร์เซลล์สามารถลดการกลายเป็นทะเลทรายได้ ด้วยการป้องกันไม่ให้เนินทรายเคลื่อนตัว และชะลอความเร็วของลม
นอกจากนี้ การยกแผงโซลาร์เซลล์ขึ้นสูง 2.5 เมตร ช่วยชะลอการระเหยของน้ำได้ 20-30% และอาจทำให้หญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ และพืชผลอื่นๆ เติบโตใต้แผงได้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งยัง มีพื้นที่ให้เกษตรกรสามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ
ขณะที่ Landsat ได้วิเคราะห์ว่า โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน มีส่วนช่วยให้ทะเลทรายเขียวชอุ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ที่มา: cleantechnica
ข่าวที่เกี่ยวข้อง