svasdssvasds

อากาศร้อนจัด! ทำ “หมูแพง” สุดรอบ 2 ปี ผลผลิตลด-อาหารสัตว์พุ่ง

อากาศร้อนจัด! ทำ “หมูแพง” สุดรอบ 2 ปี ผลผลิตลด-อาหารสัตว์พุ่ง

โลกร้อนพ่นพิษไม่หยุด! ล่าสุด ทำ “หมูแพง” สุดในรอบ 2 ปี อาหารสัตว์แพง-อากาศร้อนทำผลผลิตลด-เกษตรกรรายย่อยบางส่วนเลิกกิจการ ด้าน พาณิชย์ ขอความร่วมมือห้างตรึงราคา

SHORT CUT

  • อะไรแพงได้! แต่ขออย่าให้หมูแพง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ทานหมูเป็นหลัก 
  • โลกร้อนพ่นพิษไม่หยุด! ทำ “หมูแพง” สุดในรอบ2ปี อาหารสัตว์แพง-อากาศร้อนทำผลผลิตลด-เกษตรกรรายย่อยบางส่วนเลิกกิจการ 
  • ด้านกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือห้างตรึงราคาหมู เข้มห้ามเอาเปรียบผู้บริโภค

โลกร้อนพ่นพิษไม่หยุด! ล่าสุด ทำ “หมูแพง” สุดในรอบ 2 ปี อาหารสัตว์แพง-อากาศร้อนทำผลผลิตลด-เกษตรกรรายย่อยบางส่วนเลิกกิจการ ด้าน พาณิชย์ ขอความร่วมมือห้างตรึงราคา

ปัญหาโลกร้อนยังพ่นพิษไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และกระทบต่อห่วงโซ่อาหารแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ล่าสุดประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากโลกที่ร้อนขึ้น ในส่วนของวงการปศุสัตว์ ทำให้สุกร หรือหมู มีราสูงขึ้นสุดในรอบ 2 ปี สาเหตุมาจากอาหารสัตว์แพง อากาศร้อนทำผลผลิตลด ส่งผลทำให้เกษตรกรรายย่อยบางส่วนเลิกกิจการ

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ราคาหมูในเดือนเมษายน 2568 ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี และมองว่าราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้นจะกระทบกับผู้เล่นหลักทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการเขียงหมู ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูป จนถึงร้านอาหารและผู้บริโภค

ทั้งนี้ราคาหมูหน้าฟาร์ม หมูเนื้อแดง และหมูสามชั้น ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • หมูหน้าฟาร์ม ราคา 75 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 14.1% จากราคาเมื่อปี 2567 อยู่ที่ 69 บาทต่อกิโลกรัม
  • หมูเนื้อแดง ราคา 147 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 15% จากราคาปี 2567 อยู่ที่ 132 บาทต่อกิโลกรัม
  • หมูสามชั้น ราคา 203 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 7.2% จากราคาปี 2567 อยู่ที่ 193 บาทต่อกิโลกรัม

อากาศร้อนจัด! ทำ “หมูแพง” สุดรอบ 2 ปี ผลผลิตลด-อาหารสัตว์พุ่ง

สำหรับสถานการณ์ราคาหมูที่ปรับสูงขึ้นในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2568 มาจาก 4 ประเด็นหลักก็คือ

  • ผลผลิตหมูลดลงราว 2.2% จากอากาศร้อน โดยเฉพาะเดือนมีนาคมและเมษายน 2568
  • ราคาอาหารหมูปรับขึ้น โดยรำสดเพิ่ม 2.3% และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่ม 3.1%
  • ความต้องการบริโภคพุ่งในเทศกาลตรุษจีนและสงกรานต์
  • เกษตรกรรายย่อยบางส่วนเลิกกิจการ

อย่างไรก็ตามแม้ราคาหมูในช่วงที่เหลือของปี 2568 จะปรับลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยขึ้น แต่ราคาหมูหน้าฟาร์มทั้งปี 2568 จะยังเพิ่ม 2.6% ดันราคาหมูเนื้อแดงเพิ่ม 3.7% และหมู่สามชั้น เพิ่ม 4.8%

สำหรับราคาหมูที่สูงขึ้นส่งผลต่อผู้เล่นหลัก 4 กลุ่ม ดังนี้

  • เกษตรกร แม้ราคาขายหมูจะเพิ่ม แต่ต้นทุนการผลิตสูงเฉลี่ย 76 บาทต่อกิโลกรัม ภาพรวมยังขาดทุน
  • ผู้ประกอบการเขียงหมู ต้นทุนหมูมาแพง ขายยากขึ้น ต้นทุนอื่นยังสูงเช่นค่าเช่าแผง ค่าน้ำ เป็นต้น
  • ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูป ต้องซื้อหมูมาแปรรูปในราคาแพงขึ้น ขณะที่ต้นทุนอื่นก็ยังสูงขึ้นเช่นกัน เช่นค่าแรง น้ำตาล ค่าบรรจุภัณฑ์
  • ร้านอาหารและผู้บริโภค ต้องซื้อหมูแพงขึ้นส่วนทางกำลังซื้อที่โตชะลอกดดันการขายในเมนูอาหารตามสั่งเช่นกระเพราหมูหมูกระเทียมรวมถึง หมูกระทะ ชาบู

ส่วนแนวทางแก้ไขปัญหาหมูราคาแพง ล่าสุด กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือห้างตรึงราคาหมู เข้มห้ามเอาเปรียบผู้บริโภค โดยนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในติดตามสถานการณ์การผลิตและภาวะการค้าสุกรและเนื้อสุกร ทั้งระดับค้าส่งและค้าปลีกอย่างใกล้ชิด และให้แก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

อากาศร้อนจัด! ทำ “หมูแพง” สุดรอบ 2 ปี ผลผลิตลด-อาหารสัตว์พุ่ง

โดยกรมฯ ได้หารือร่วมกับกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเป็นประจำ พบว่าปริมาณสุกรออกสู่ตลาดลดลง โดยออกสู่ตลาดเฉลี่ยวันละประมาณ 60,000 ตัว แต่ยังคงเพียงพอต่อการบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาณสุกรออกสู่ตลาดลดลง มาจากสภาพอากาศร้อนจัดตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ส่งผลให้สุกรโตช้า น้ำหนักเฉลี่ยก่อนเข้าฆ่าลดลง อีกทั้งยังมีการสูญเสียในระหว่างการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

นอกจากนี้เกษตรกรยังต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากค่าน้ำ และค่าไฟฟ้า ซึ่งเพิ่มขึ้นจากความจำเป็นในการควบคุมอุณหภูมิภายในฟาร์ม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน อย่างไรก็ตาม ราคาประกาศสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติในสัปดาห์นี้ยังคงทรงตัวต่อเนื่อง อยู่ที่ 88 บาท โดยแนวโน้มราคาจะยังคงทรงตัวต่ออีกระยะหนึ่ง ก่อนจะเริ่มปรับลดลงเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนที่มีสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเลี้ยง และเป็นไปตามรอบการผลิต

นายวิทยากร กล่าวต่อว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ประชุมร่วมกับห้างค้าส่งและค้าปลีก ให้ตรึงราคาจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละ หากมีความจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น จะต้องแจ้งให้กรมฯ ทราบล่วงหน้า เพื่อที่กรมฯ จะได้เข้าหารือและเจรจากับผู้ผลิตรายใหญ่ เพื่อควบคุมต้นทุนไม่ให้กระทบผู้บริโภค นอกจากนี้ กรมการค้าภายในได้มีมาตรการรองรับเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค โดยมีการจำหน่ายเนื้อสุกรราคาต่ำกว่าท้องตลาดในงานธงฟ้าราคาประหยัด ทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และภูมิภาค เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน พร้อมทั้งเชื่อมโยงเนื้อสุกรแดงเข้าสู่โมบายธงฟ้า และงานธงฟ้าทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อสุกรคุณภาพในราคาย่อมเยา”

อย่างไรก็ตามกรมการค้าภายใน ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาสุกรและเนื้อสุกรอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด หากพบว่าผู้ค้ารายใดมีพฤติกรรมจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควร ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569 หากพบการกระทำผิดจะมีโทษตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

 

related