กลุ่มนักอนุรักษ์ต่างวิจารณ์มาตรการสังหารช้างเพื่อบรรเทาความอดอยากจากภัยแล้งในแอฟริกาว่า เป็นนโยบายที่โหดร้าย และไม่มีทางแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีรายงานการประกาศภัยพิบัติเนื่องจากภัยแล้งในสองประเทศของแอฟริกาอย่าง นามิเบีย และซิมบับเว ที่ทำให้ประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง จนรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ตัดสินใจใช้มาตรการสังหารช้างและสัตว์ป่าจำนวนมาก เพื่อนำมาเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตประชาชนที่หิวโหย
โดยในเดือนสิงหาคม นามิเบียยอมรับว่าได้มีการสังหารสัตว์ป่าไปแล้ว 723 ตัวรวมถึงช้าง 83 ตัว ฮิปโป 30 ตัว และม้าลาย 300 ตัว ส่วนซิมบับเวได้อนุญาตให้มีการสังหารช้างไปแล้ว 200 ตัว ในเดือนกันยายน
รัฐบาลทั้งสองยืนยันว่า การสังหารหมู่ต่อเหล่าสัตว์ป่าครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดของภูมิภาคในรอบ 100 ปี ลดแรงกดดันต่อผืนดินและผืนน้ำ และป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นหากสัตว์ต่างๆ พยายามอพยพเข้าไปในชุมชนมนุษย์เพื่อหาอาหาร
แน่นอนว่าการกระทำดังกล่าวได้รับกระแสต่อต้านอย่างรุนแรง
กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมวิจารณ์การสังหารหมู่สัตว์ป่าว่า ‘โหดร้าย’ โดยเฉพาะนโยบาย ‘ล่าฆ่าหัว’ ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถจ่ายเงินหลายนดอลลาร์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมล่าสัตว์ และเก็บส่วนต่างๆ ของสัตว์ไว้แลกเป็นถ้วยรางวัล
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ที่สนับสนุนนโยบายนี้ต่างโต้แย้งว่า การวิพากย์วิจารณ์ของกลุ่มอนุรักษ์แทบไม่ต่างจากการ ‘เหยียดเชื้อชาติ’ ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตของสัตว์ป่ามากกว่าผู้คนในแอฟริกา ทั้งที่หลายประเทศทั่วโลกก็มีการสังหารสัตว์เพื่อเป็นอาหารเช่นกัน
เอลิซาเบธ มรีมา รองผู้อำนวยการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ขณะที่หลายประเทศกำลังภัยแล้งที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชากรจำนวนมากต้องเผชิญความทุกทรมาน ส่วนการเก็บเกี่ยวและบริโภคเนื้อสัตว์ป่าอย่างถูกกฎหมายก็ถือเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก จึงมองว่าหากการเก็บเกี่ยวสัตว์เหล่านี้ใช้กรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืน ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลต่อมาตรการดังกล่าว
ขณะที่ทั้งสองประเทศระบุว่า การสังหารสัตว์ป่าครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของประชากรสัตว์ป่าในระยะยาว แต่ตรงกันข้าม การลดจำนวนสัตว์ป่าบางชนิดลงจะช่วยปกป้องสัตว์ที่เหลืออยู่ได้ เนื่องจากภัยแล้งทำให้ทรัพยากรอาหารและน้ำลดน้อยลง นอกจากนี้ยังยืนยันว่าสัตว์ทั้งหมดในซิมบับเวและส่วนใหญ่ในนามิเบียจะถูกฆ่าโดยนายพรานมืออาชีพเท่านั้น
ปัจจุบันนามิเบียมีจำนวนช้างประมาณ 21,000 ตัว และจากการสำรวจในปี 2022 พบว่า ในบางพื้นที่มีช้างจำนวนมากจน “เป็นอันตรายสำหรับผู้คน" เนื่องจากช้างจะเข้าไปทำลายพืชผล ทำร้ายปศุสัตว์ และอาจถึงขั้นทำร้ายคนในพื้นที่ด้วย