svasdssvasds

รวม 'ปัญหาสิ่งแวดล้อม 2567' จากการคาดการณ์ของสหประชาชาติ ฝน แล้ง มาเต็ม!

รวม 'ปัญหาสิ่งแวดล้อม 2567' จากการคาดการณ์ของสหประชาชาติ ฝน แล้ง มาเต็ม!

สำรวจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม 2567 จากการคาดการณ์ของสหประชาชาติ (UN) ทั่วโลกต้องเจอผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่

สหประชาชาติ (UN) เผยคำคาดการณ์ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกอาจเผชิญในปี 2024 โดยระบุว่า จะเกิดภัยพิบัติด้านสภาพอากาศในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ภัยแล้ง น้ำท่วม น้ำทะเลหนุนสูง ตลอดจนราคาอาหารที่พุ่งสูง เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศเปราะบางเป็นอันดับแรก

วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นนั้นยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในบางประเทศ รวมถึงบ่อนทำลายผลิตผลทางการเกษตรอย่างหนักหน่วง Spring ชวนติดตาม ปัญหาสิ่งแวดล้อม 2567 ทั่วโลกต้องเจอกับอะไรบ้าง?

UN คาดการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อม 2567 Cr. Reuters / Siphiwe Sibeko

01: เอลนีโญ (El Niño)

ปัญหาสิ่งแวดล้อมประการแรกที่ UN คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นแน่ ๆ คือ ภัยแล้งจากเอลนีโญ สหประชาชาติให้เหตุผลว่า ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ราคาอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ากระทบถึงปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรกลุ่มเปราะบางเป็นอย่างมาก

สหประชาชาติ กล่าวว่า ในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันตก จะเป็นภูมิภาคที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งเหตุผลหลักก็มาจากภัยแล้งของเอลนีโญที่ทำให้การอุตสาหกรรมอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

เอลนีโญจะทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2567 Cr. Reuters / WILLY KURNIAWAN

ในปี 2567 สหประชาชาติคาดการณ์ว่า เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนของหลายประเทศในแถบเอเชีย อีกทั้งยังกระทบถึงผลผลิตทางการเกษตรด้วย

02: วิกฤตการเงิน ต่อสู้ Climate Change

สหประชาชาติ ระบุว่า ทั่วโลกต้องลงเงินประมาณ 150 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดในระดับอุตสาหกรรม นับแต่ปีนี้จนถึงปี 2050 หรือแบ่งเป็นเงิน 5.3 ล้านล้านต่อปี

เหตุที่ต้องจ่ายเงินถุงเงินถังมากขนาดนี้ เป็นเพราะว่าต้องลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ระบุว่า ประเทศต้องร่วมกันไม่ให้อุณหภูมิโลกไม่สูงเกิน 1.5 องศา ซึ่งดูเหมือนว่าน่าจะทำไม่ได้ เพราะล่าสุดจ่อทะลุ 2 องศาแล้ว

รถในฮอนดูลัสถูกทิ้งไว้หลักเดือน เพราะเจอปัญหาน้ำท่วมและรับมือไม่ได้ Cr. Reuters

03: ประเทศร่ำรวยต้องชดเชย (ค่าเสียหาย) ให้กลุ่มประเทศเปราะบาง

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาพูดตั้งแต่งาน COP26 ในปี 2021 แล้ว ว่าควรตั้งกองทุนเพื่อปันเงินให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

จนถึงการประชุมสภาพอากาศ COP 28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในครั้งที่ผ่านมา สหประชาชาติ ประกาศกร้าวว่า จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือประเทศกลุ่มเปราะบางอย่างจริงจัง เพื่อให้พวกเขาสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เบื้องต้นหลายประเทศควรลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลขั้นจริงจังเป็นอันดับแรก เช่น การออกนโยบายเพื่อฉายเป้าประสงค์ให้ชัดเจน จากนั้นควรเสริมบทบาทของธนาคารการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

หลายประเทศควรลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลขั้นจริงจัง Cr. Reuters / Dan Riedlhuber

04: ประเทศยากจน ได้รับผลกระทบหนักแน่ ๆ

สหประชาชาติ เผยว่า กลุ่มประเทศยากจน ซึ่งไร้ต้นทุนในการต่อกร รับมือ แก้ไขปัญหาอันเป็นผลพวงมาจาก Climate Change นอกจากจะไม่มีปัจจัยหนุนหลังแล้ว ยังมีหนี้สิ้นจำนวนมากรั้งคอไว้อยู่

ส่งผลต่อเนื่องถึงประเด็นที่ว่า ประเทศเหล่านี้ไร้หนทางเข้าถึงทรัพยากร เทคโนโลยี และไม่มีแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ว่าง่าย ๆ คือ เกิดอะไรขึ้น ก็ต้องปล่อยเอาไว้แบบนั้น เพราะทำอะไรไม่ได้มาก

UN ย้ำชัดว่า ประเทศยากจนไร้แขนขาที่จะช่วยเหลือตัวเองให้รอดพ้นจากผลกระทบของ Climate Change ดังนั้น ประเทศร่ำรวยจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อเข้ามาช่วยเหลือประเทศกลุ่มเปราะบางเพื่อพากันรอดพ้นวิกฤตสภาพอากาศที่กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ภัยพิบัติ และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดทั่วโลกในปี 2567 น่าจะมีมากกว่าที่ UN  คาดหมายไว้ เพราะปีนี้ เป็นปีที่อุณหภูมิโลกจ่อสูงขึ้นกว่าเดิม เอลนีโญจะรุนแรงขึ้น แถมสภาพอากาศจะแปรปรวนหนักกว่าเดิม ต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด

 

 

ที่มา: Euro News

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related