svasdssvasds

รู้จักพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย ตัวการฝนหนักฟ้าร้องที่ไม่ใช่นางเมขลาล่อแก้ว

รู้จักพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย ตัวการฝนหนักฟ้าร้องที่ไม่ใช่นางเมขลาล่อแก้ว

ฝนฟ้าคะนองเป็นสภาพอากาศที่คนกรุงต้องประสบอยู่บ่อบๆ โดยเฉพาะยามเย็นหลังเลิกงานช่วงหน้าฝน เรามารู้จักพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย ตัวการที่ทำให้เกิดฝนตกหนักฟ้าร้องบ่อยๆ ในกรุงเทพฯ กันดีกว่า

มีคำกล่าวว่า อยู่ใต้ฟ้า อย่ากลัวฝน แต่ฝนในเมืองกรุงเทพฯ มันก็ช่างตกหนักเสียเหลือเกิน ตกเพียงแค่ไม่กี่นาที ก็เพียงพอที่จะทำให้ถนนทั้งสายกลายร่างเป็นคลองไปได้ อีกทั้งฝนตกหนักทีไร ก็มักจะได้ยินเสียงฟ้าร้องฟ้าลั่น ใครสาบานอะไรไว้ เป็นไม่กล้าออกที่แจ้งกัน

ดังนั้นจึงเป็นการดี ที่เราจะมาทำความรู้จักวิทยาศาสตร์เบื้องหลังพายุฝนฟ้าคะนองเหล่านี้กันให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่ครั้งต่อไปเราจะได้รู้ว่าเวลาไหนควรเตรียมร่มเผื่อไว้บ้าง

พายุฝนในกรุงเทพฯ ที่มักเกิดในช่วงเวลาเย็นหลังเลิกงาน  ที่มาภาพ: NationPhoto

 

รู้จักพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย

หลายๆ ครั้งเวลาเราฟังข่าวพยากรณ์อากาศเรามักได้ยินศัพท์คำหนึ่งคือ พายุฝนฟ้าคะนองกระจาย หรือ Scattered thunderstorms ซึ่งหมายถึง พายุฝนฟ้าคะนองที่ไม่กระจายไปทั่วพื้นที่ที่กำหนด แต่เกิดขึ้นประปราย มีลักษณะพิเศษที่มักเป็นกลุ่มฝนรุนแรง แต่เกิดกระจัดกระจาย โดยบางพื้นที่ประสบกับพายุในขณะที่พื้นที่อื่นๆ ยังคงแห้งสนิท

 

ลักษณะการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย

โดยทั่วไปพายุฝนฟ้าคะนองกระจัดกระจายจะเกิดขึ้นในภูมิภาคที่สภาพบรรยากาศเอื้อต่อการพัฒนาพายุฝนฟ้าคะนอง เงื่อนไขเหล่านี้รวมถึงการมีอากาศอุ่นชื้น สภาพบรรยากาศที่ไม่เสถียร และปัจจัยกระตุ้นบางอย่าง เช่น การปะทะกันระหว่างแนวเขตอากาศ หรือลักษณะภูมิประเทศในท้องถิ่น

เมฆพายุฝน

จากคำอธิบายของ ดร.วัฒนา กันบัว ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบงานการพยากรณ์อุตุนิยมวิทยา ประจำกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า พายุฝนฟ้าคะนองกระจายจะเกิดขึ้นเมื่ออากาศอุ่นและชื้นลอยขึ้นสูงขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ อากาศจะเย็นลงและควบแน่น ก่อตัวเป็นเมฆ Cumulonimbus หรือเมฆพายุฝนสูงตระหง่าน หากสภาพอากาศเอื้ออำนวย เมฆเหล่านี้อาจเติบโตเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง ตามมาด้วยฟ้าผ่า ฟ้าร้อง ฝนตกหนัก ลมแรง และบางครั้งก็เกิดลูกเห็บด้วย

ลักษณะเด่นประการหนึ่งของพายุฝนฟ้าคะนองกระจายคือ มักจะเกิดแค่ในชั่วระยะเวลาสั้นๆ ตัวพายุจะพัฒนา มีกำลังรุนแรงขึ้น และสลายไปค่อนข้างเร็ว ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักและลมแรงในช่วงเวลาสั้นๆ

พายุฝนในกรุงเทพฯ  ที่มาภาพ: Rungsrit Kanjanavanit

ด้วยลักษณะตามธรรมชาติที่คาดเดาไม่ได้ของพายุฝนฟ้าคะนองกระจายทำให้ พายุฝนชนิดนี้ยากต่อการคาดการณ์ ดังจะเห็นว่า หลายๆ ครั้ง เราต้องเจอฝนตกหนักรุนแรง แต่แอปเช็คสภาพอากาศในมือถือกลับขึ้นว่าฟ้าใสซะอย่างนั้น

 

ลักษณะของการเกิดพายุฝนในกรุงเทพฯ

ดร.วัฒนา อธิบายว่า พายุฝนฟ้าคะนองกระจายที่เกิดในกรุงเทพฯ มักเป็นพายุฝนที่จะเกิดช่วงเวลาเย็น โดยเฉพาะหลังเลิกงาน อันเป็นที่มาของคำว่า ฝนหลังเลิกงาน คนกรุงฯ คุ้นเคยกันดี พายุฝนประเภทนี้มักเกิดขึ้น เพราะหลังจากช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อน อุณหภูมิเหนือพื้นดินในเมืองจะพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเมืองเต็มไปด้วยพื้นผิวคอนกรีตที่อมความร้อน

“เมื่ออากาศเหนือพื้นดินร้อนขึ้น มันก็จะลอยตัวสูงขึ้น เกิดเป็นเมฆพายุฝนจากการถ่ายเทความร้อน ดังนั้นเราจึงมักต้องเจอกับพายุฝนในช่วงเวลาเย็น หลังจากอากาศร้อนเริ่มคลายตัวออกจากพื้นดิน” ดร.วัฒนา กล่าว

ด้วยความที่เมฆก่อตัวเป็นกระจุก จึงทำให้ฐานพายุที่จะมีฝนตกลมแรงมีรัศมีกว้างแค่ราว 3 – 5 กิโลเมตร หรืออย่างมากไม่เกิน 10 กิโลเมตร จึงเป็นเหตุให้บางพื้นที่เกิดฝนตกหนักอย่างรุนแรง ในขณะที่ถัดออกไปไม่ไกล กลับแห้งสนิท ไม่มีฝนสักเม็ด

 

ภัยที่อาจเกิดจากพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย

เนื่องจากพายุฝนฟ้าคะนองกระจายมักเป็นหย่อมพายุฝนที่มีความรุนแรงสูง และมักมีลมแรงและฟ้าคะนองร่วมด้วย ผู้คนที่อยู่ในแนวเขตที่พายุฝนพัดผ่าน จึงมีข้อควรระมัดระวังดังนี้

  • ระวังน้ำท่วมฉับพลัน: เนื่องจากพายุฝนฟ้าคะนองมักทำให้เกิดฝนหนักมาก ตกในพื้นที่เล็กๆ ความเข้มข้นของฝนอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันจากน้ำฝนที่ระบายไม่ทันได้

ลักษณะการเกิดพายุฝนฟ้าคะนองกระจายที่มักเกิดเป็นกระจุก แต่มีฝนตกหนักรุนแรงในพื้นที่เล็กๆ  ที่มาภาพ: เรดาร์ฝนหนองจอก

  • ระวังลมกรรโชกแรง: พายุฝนฟ้าคะนองลูกใหญ่ มักมาพร้อมกับลมกรรโชกแรง จากเหตุพายุฝนตกหนักหลายต่อหลายครั้ง เรามักพบว่าลมแรงมักพัดจนเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา และต้นไม้ที่ระบบรากไม่แข็งแรงโค่นล้ม ดังนั้นหากพบว่ามีลมกรรโชกแรง เราควรหลบออกจากสิ่งที่อาจโค่นลงมาจากลมพายุได้
  • ระวังฟ้าผ่า: พายุฝนฟ้าคะนอง มักมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าเป็นระยะ อันเกิดจากประจุไฟฟ้าที่อยู่ในก้อนเมฆ ฟ้าผ่าถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญเนื่องจากอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้และอาจคร่าชีวิตคนได้ หากถูกฟ้าผ่าตรงๆ ดังนั้น เมื่อเกิดพายุฟ้าคะนองรุนแรง เราจึงควรหาที่หลบภัยในบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากฟ้าผ่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related