ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคนแล้ว สะท้อนถึงก้าวสำคัญของการพัฒนามนุษย์ และอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ การอพยพ และความเหลื่อมล้ำ
สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เผยแพร่รายงานที่ประเมินว่า ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 8 พันล้านคน ในวันที่ 15 พ.ย. และระบุว่า การเติบโตของจำนวนประชากรอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเป็นผลมาจากอายุขัยมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากการพัฒนาด้านสาธารณสุข โภชนาการ สุขอนามัยส่วนบุคคล และการแพทย์ รวมถึง การเจริญพันธุ์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในบางประเทศ
ด้านสหประชาชาติได้เลือกเด็กทารกเพื่อเป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์สำหรับประชากรคนที่ 8 พันล้าน และในครั้งนี้ หนูน้อย Vinice Mabansag ทารกเพศหญิงที่คลอดเวลา 01.29 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ โรงพยาบาล Dr Jose Fabella memorial hospital กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็นประชากรคนที่ 8 พันล้านอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอีก 1 พันล้านคนภายใน 12 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการเติบโตจะลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือไม่ถึง 1% ต่อปี ซึ่งจะทำให้มีประชากรโลกเพิ่มเป็น 9 พันล้านคน ในอีก 15 ปีข้างหน้า หรือปี 2580 หลังจากนั้นประชากรโลกจะถึงจุดสูงสุดที่ 1.04 หมื่นล้านคน ภายในช่วงปี 2623-2632 และคงที่ต่อเนื่องจนถึงปี 2643
ขณะที่อัตราการเกิดทั่วโลกลดลง แต่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้น โดยรายงานของยูเอ็น ประเมินว่า
• อัตราเจริญพันธุ์เฉลี่ยทั่วโลกในปี 2564 อยู่ที่ 2.3 ต่อผู้หญิง 1 คน และจะลดลงเหลือ 2.1 ต่อผู้หญิง 1 คน ภายในปี 2593
• อายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 72.8 ปี ในปี 2562 เป็น 77.2 ปี ภายในปี 2593
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• คาดการณ์ประชากรโลกจะไม่เพิ่มขึ้นอีกหลังปี 2100 เปิดแผนรับมือของแต่ละชาติ
• ในปี 2050 ไทยจะเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีประชากรลดลง ผลกระทบสั้น-ยาว
• UN คาดว่าอินเดียจะแซงหน้าจีน มีประชากรมาที่สุดในโลกในปี 2023
กลุ่มประเทศที่ประชากรเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือเอเชีย
มีประชากรเพิ่มขึ้น 700 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2011 โดยประชากรของอินเดียกำลังจะแซงหน้าประชากรของจีนขึ้นเป็นอันดับ 1 ในปี 2023 ที่จะถึงนี้
เลขาธิการยูเอ็น นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส ระบุ ว่า ในวันที่ประชากรโลกแตะ 8 พันล้านคน เป็นโอกาสสำคัญเพื่อเฉลิมฉลองความหลากหลายและความก้าวหน้า และเพื่อพิจารณาถึงความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อโลกใบนี้
ด้านผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า เมื่อประชากรโลกมากขึ้น แรงกดดันต่อทรัพยากรก็เพิ่มขึ้นด้วยเพราะประชาชนจะแย่งชิงกับสัตว์ป่าเพื่อทรัพยากรน้ำ อาหาร และพื้นที่
นอกจากนี้ การเติบโตของประชากรอย่างรวดเร็วท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะยิ่งทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ และความขัดแย้งมากขึ้นในช่วงหลายสิบปีข้างหน้าและเมื่อทรัพยากรอย่าง น้ำ อาหาร หรือ น้ำมันเบนซิน ไม่อาจเพิ่มขึ้นได้ทันการเติบโตของประชากรโลก จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ทรัพยากร
องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่าจำนวนประชากรโลกจะแตะระดับสูงสุดในปี 2080 ที่จำนวน 1.4 หมื่นล้านคน และจะอยู่ที่ระดับนี้ไปจนถึงปี 2100
แม้จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจนแตะจุดสูงสุด แต่นักประชากรศาสตร์มองว่าอัตราการเกิดจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือไม่ถึง 1% ต่อปี ส่งผลให้อาจต้องใช้เวลาอีก 15 ปี กว่าประชากรโลกจะแตะที่ระดับ 9 พันล้านคน (ปี 2037)