งานวิจัยใหม่ในวารสาร Nature Communications เผย ประชากรมากกว่า 1.8 พันล้านคนทั่วโลก หรือราวๆ เกือบๆ 1 ใน 4 ของโลก มีความเสี่ยงเผชิญกับน้ำท่วมรุนแรง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางในทวีปเอเชีย
งานวิจัยใหม่ในวารสาร Nature Communications เผย มีการประเมิน และพบว่า จำนวนประชากรที่เสี่ยงจะเผชิญกับอุทกภัยนั้นเยอะกว่าที่คาดการณ์ไว้ครั้งก่อนอยู่มาก เพราะในช่วงเวลา ก่อนหน้านี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีประชากรทั่วโลกประมาณ 1.3 พันล้านคนที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรงภายในปี 2050
แต่จากการประเมินล่าสุด มีประชากรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณ 500 ล้านคน โดยประเมินจากข้อมูลที่ละเอียดขึ้นทั้งเรื่องน้ำท่วมชายฝั่ง ระดับแม่น้ำและน้ำผิวดิน
บรูโน เมิร์ซ Bruno Merz นักอุทกวิทยาแห่งศูนย์วิจัยธรณีศาสตร์แห่งเยอรมนี แม้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้ แต่ก็ได้ให้ความเห็นว่า ความยากจนและความเสี่ยงที่จะเผชิญกับน้ำท่วมนั้นมีความเกี่ยวโยงกันอยู่ โดยผู้คนที่มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมรุนแรงมากกว่าคนที่มีรายได้สูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โดยงานวิจัยครั้งนี้ ที่ถูกตีพิมพ์ใน วารสาร Nature Communications เน้นไปที่พื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูงเกิน 15 เซนติเมตร ผลการศึกษาพบว่าเกือบ 90% ของผู้ที่เสี่ยงกับการเจอน้ำท่วมรุนแรงอาศัยอยู่ในประเทศยากจน โดยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ส่วนใหญ่กว่า 780 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 5.50 ดอลลาร์ต่อวัน (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 210 บาท) และจากสถิติพบว่าในหลายประเทศที่มีรายได้น้อย ประชาชนจะเริ่มเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมมากขึ้นเฉลี่ยทุก ๆ 5 ปี
เจอโรน อาร์ทส์ Jeroen Aerts นักวิจัยด้านความเสี่ยงจากน้ำท่วมจาก Vrije Universiteit Amsterdam ในเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า มันเป็นความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัด โดยผู้มีรายได้น้อยมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมมากกว่าผู้มีรายได้สูง เห็นได้จากประเทศที่ร่ำรวยส่วนใหญ่มีทรัพยากรในการจัดการกับปัญหาน้ำท่วมมากกว่าประเทศที่ยากจนอยู่แล้ว และยิ่งพื้นที่ที่เป็นใจกลางเมืองหรือศูนย์กลางทางการค้า ทางการก็มักลงทุนกับเรื่องการป้องกันน้ำท่วมมากกว่าพื้นที่ชนบท
ปัญหา การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ Climate Change ยิ่งเร่งเครื่องให้ความถี่และความรุนแรงของน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น
แม้ปัจจุบัน โลกจะมีระบบเตือนภัยและเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิจลงบ้าง แต่ในพื้นที่ที่ยากจนและการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่เหล่านั้นก็จะยังทำให้ผู้คนมีความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคตอยู่ดี ดังนั้นควรลงทุนและใช้ทรัพยากรที่มีกับเรื่องการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เหล่านี้มากกว่า