svasdssvasds

รู้จัก! ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ร่วมปกป้องวิกฤตสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

รู้จัก! ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ร่วมปกป้องวิกฤตสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

เนื่องในวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เป็น วันแห่งความหลากหลายทางชีวภาพสากล ชวนรู้จัก ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ที่จะปกป้องไทยจากวิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลก

สัตว์หายไปตลอดกาลจากโลกใบนี้ เป็นความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้ แล้วไทยจะหยุดยั้งวิกฤตนี้ได้อย่างไร?

ชวนดูความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องในวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแห่งความหลากหลายทางชีวภาพสากล (International Day of Biological Diversity)

ประชากรสัตว์ลดลงอย่างต่อเนื่องทั่วโลกทุกปี แม้กระทั่งสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จักกันดี เช่น ช้าง เสือ นก หรือควายไทย สัตว์เหล่านี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ด้วยเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ไทยได้เปิดตัว ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) หรือ NBT ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี

เสือโคร่ง โดยทีมวิจัยจากธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. ได้เปิดบ้านให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมโครงการพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ เพื่อโชว์ศักยภาพให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. และเนื่องในวันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแห่งความหลากหลายทางชีวภาพสากล ที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2535 เพื่อรณรงค์ให้ประชาคมโลกเกิดการตระหนักและส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์

Springnews ในคอลัมน์ Keep The World จึงอยากชวนไปดูบทบาทของของธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติว่ามีส่วนสำคัญในการปกป้องวิกฤตสัตว์สูญพันธุ์ในประเทศได้อย่างไร?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติคืออะไร?

ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2562 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว ภายใต้การบริหารจัดการของ สวทช. เพื่อเป็นคลังสำรองให้แก่ประเทศ อาทิ ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิต และข้อมูลทางชีวภาพที่ร่วมมือกับเครือข่ายวิจัยทั่วโลก

ผ่านการดำเนินงานร่วมกันของนักวิจัยจาก 3 ธนาคาร คือ ธนาคารพืช (Plant bank) ธนาคารจุลินทรีย์ (Microbe bank) และธนาคารข้อมูลชีวภาพ (Data bank) โดยมีเป้าหมายหลักคือการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในไทย

ตัวอย่างเมล็ดพันธุ์พืชที่จะถูกเก็บไว้ในตู้แช่แข็ง บทบาทสำคัญของ NBT

พืช จุลินทรีย์ และสัตว์ที่นักวิจัยวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ จะถูกจัดเก็บตัวอย่างในตู้จัดเก็บเฉพาะ ซึ่งเป็นตู้จัดเก็บตัวอย่างขนาดใหญ่ตู้แรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้คงสภาพหรือคงความมีชีวิตอยู่ในอุณหภูมิเยือกแข็ง 3 ระดับ คือ

  • ตู้ -20 องศาเซลเซียสใช้เก็บตัวอย่างของเมล็ดพันธุ์พืช ที่จะถูกบรรจุในหลอดขนาด 25 มิลลิลิตร ตู้นี้จัดเก็บหลอดตัวอย่างพันธุ์พืชได้ทั้งสิ้น 100,000 หลอด
  • ตู้ -80 องศาเซลเซียสใช้เก็บตัวอย่างของสัตว์ จุลินทรีย์และตัวอย่างชีววัสดุอื่น ๆ ซึ่งจะบรรจุในหลอดขนาด 2.5 มิลลิลิตร ตู้นี้จัดเก็บหลอดตัวอย่างได้ทั้งสิ้น 300,000 หลอด
  • นอกจากนี้ยังมีถังไนโตรเจนเหลวขนาด 1,770 ลิตร สำหรับจัดเก็บตัวอย่างเซลล์สิ่งมีชีวิตในสภาวะเย็นยิ่งยวดที่อุณภูมิ -196 องศาเซลเซียส

ตู่แช่แข็งติดลบ 20 องศาเซลเซียส

ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เรียกง่าย ๆ ว่า แช่แข็งตัวอย่างสิ่งมีชีวิต เพื่อวันหนึ่งประชากรลดลง เราสามารถนำตัวอย่างเหล่านี้มีวิจัยเพื่อฟื้นฟูประชากรที่เริ่มลดน้อยลงไปได้อย่างเหมาะสม และที่สำคัญตัวอย่างที่เก็บมาจะสามารถมีชีวิตรอดได้หลังจัดเก็บในธนาคารแห่งนี้

หน้าจอแสดงการทำงานภายในตู้แช่แข็ง ซึ่งมีหุ่นยนต์คอยเก็บหลอดตัวอย่างให้โดยที่มนุษย์ไม่ต้องเข้าไปให้ปนเปื้อน มีโครงการฟื้นฟูประชากร “ละมั่งไทย” ด้วยโปรแกรมการเลือกคู่

“ละมั่งไทย” คนไทยรู้จักกันดีว่ามันถูกจัดอยู่ในสัตว์คุ้มครอง ที่ครั้งหนึ่งเคยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติประเทศไทย แต่เพราะการเพาะเลี้ยงและนำกลับคืนสู่ธรรมชาติสำเร็จ ภายใต้หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมอุทยาน องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงทำให้ไทยยังมีละมั่งสายพันธุ์ไทยหลงเหลืออยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ละมั่งพันธุ์ไทยก็ยังเหลือน้อยอยู่ในระดับวิกฤต การผสมพันธุ์จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง

เราจึงต้องระมัดระวังไม่ให้สัตว์เกิดการผสมพันธุ์กันในเครือญาติใกล้ชิด หรือ เลือดชิด (Inbreeding) เพราะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการจับคู่ของยีนด้อย ซึ่งจะทำให้ละมั่งอ่อนแอลงและมีแนวโน้มสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น

ละมั่งพันธุ์ไทย Cr.Arnuparp Yhamdee / องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ร่วมกับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center: NOC) จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับนำข้อมูลรหัสพันธุกรรมที่ถอดรหัสได้ของละมั่งมาวิเคราะห์เลือกคู่ผสมพันธุ์ที่เหมาะสมให้

การทำแบบนี้จะช่วยให้เกิดการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่แข็งแรงและจะทำให้ประชากรละมั่งมีความอุดมสมบูรณ์และแข็งแรงตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดการเพิ่มจำนวนประชากรในอนาคตอย่างยั่งยืน ผ่านโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมานี้

นอกจากนี้โปรแกรมที่ทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้นนี้ยังได้ตอบโจทย์การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์อีก 2 ด้าน คือ “การวิเคราะห์สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตว่าเป็นพันธุ์แท้หรือลูกผสม” และ “การสืบย้อนหาเครือญาติของสิ่งมีชีวิต” ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงได้ถึง 3 รุ่นเพื่อให้การวิเคราะห์และวางแผนการอนุรักษ์เป็นไปอย่างยั่งยืน

ทีมวิจัยจากทั้ง 3 ธนาคารภายใต้ NBT หลังจากนี้ NBT มีแผนที่จะดำเนินงานร่วมกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำโปรมแกรมเข้าสู่ระบบขององค์การสวนสัตว์ เพื่อเปิดให้ผู้ดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และผสมพันธุ์สัตว์ในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์ และอนาคตอาจเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพได้ด้วย

หากใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ NBT ก็สามารถเข้าไปเยี่ยมชมหรือสอบถามได้ที่ www.nationalbiobank.in.th หรือติดต่อสอบถามความร่วมมือด้านงานวิจัยได้ที่อีเมล [email protected]

related