ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยกับ SPRiNG News ยังไม่เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ต้องรอมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนลงมาปกคลุม ผ่านพ้นไปก่อน อย่างไรก็ตาม เวลาถึงหน้าร้อนจริงๆแล้ว อาจจะต้องทนทรมานกับ อุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส
ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้สัมภาษณ์ กับ SPRiNG News ว่า เวลานี้ (28 ก.พ. 2566) ยังไม่เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ แม้ว่า กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ จะเคยพยากรณ์ว่า ประเทศไทย จะเข้าสู่ฤดูร้อนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ 2566
โดยเหตุผลก็คือ ช่วงเวลานี้ ยังมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนลงมาปกคลุม ประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้ พื้นที่ดังกล่าวมีอากาศเย็นลงเล็กน้อย 1-2 องศาเซลเซียส
ดังนั้น หลังจากพ้นช่วงต้นเดือน มีนาคม 2566 ไปแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ จะประกาศวันที่ ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตอบข้อสงสัย สภาพอากาศแปรปรวน เกิดจากอะไร ยาวนานแค่ไหน และหนาวเมื่อไร?
ฝุ่น PM 2.5 กทม. วันนี้ (28 ก.พ.) สาหัสพบเกินค่ามาตรฐาน มีผลต่อสุขภาพ 41 พื้นที่
โดยในช่วงที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์ อากาศเดือนมีนาคม 2566 บริเวณประเทศไทยตอนบน ช่วงครึ่งแรกของเดือน จะมีอากาศร้อนเป็นระยะ ๆ
จากนั้น จะมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุด 40-43 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนของทั้งภาคกลางและภาคตะวันออก แต่จะมีฝนตกลงมาในบางช่วง ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้ เนื่องจาก จะมีลมตะวันออกเฉียงใต้หรือลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับในช่วงครึ่งหลังของเดือนจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ
การคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย 2566 จากเดิมที่เคยพยากรณ์ว่า หน้าร้อนจะเป็น ช่วงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2566 ตอนนี้จะขยับการเข้าสู่หน้าร้อนอย่างเป็นทางการ ในช่วงหลังต้นเดือนมีนาคม 2566 ไปก่อน
ฤดูร้อนของประเทศไทยปีนี้ คาดว่า จะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป และจะมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงปลายเดือนเมษายน สลับกับจะมีฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ ซึ่งจะช่วยคลายความร้อนลงได้