เรียนจบมีงานทำ! คุณหญิงกัลยา จับมือภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ร่วมกันลงนาม MOU พัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำ กับหลักสูตร 'ชลกร' การบริหารจัดการน้ำ ตั้งเป้าเมื่อเด็กเรียนจบมีงานทำ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน และแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การพัฒนาองค์ความรู้ด้านบริหารทรัพยากรน้ำ ระหว่าง มูลนิธินโยบายสาธารณะไทย กับ เทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง พร้อมด้วย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายโชติ โสภณพนิช ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะไทย โดยมีผู้บริหารเทศบาลเมืองมาบตาพุด ส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับและนำลงพื้นที่ชมตัวอย่างธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่การเกษตรของชุมชน จ.ระยอง
โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปีนี้ได้ขับเคลื่อนสู่ปีที่ 4 โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และดูแลกำกับงานด้านอาชีวะศึกษาเกษตร จับมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาบริหารจัดการน้ำ ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจและแผนการขับเคลื่อนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นการบูรณาการความร่วมมือ สนับสนุนการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน และยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
รู้จัก “ชลกร” หรือ นักบริหารจัดการน้ำ อาชีพใหม่ในการดูแลน้ำเพื่อการเกษตร
คุณหญิงกัลยา ดันหลักสูตรแรกในไทย "ชลกร" สอนจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ
20 วิทยาลัยเกษตรฯ หนุนนโยบาย “คุณหญิงกัลยา” เคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำฯ
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช หวังให้สถานศึกษาเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ สร้าง Smart Farmer โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมายกระดับการทำการเกษตร และยกระดับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงสามารถตอบโจทย์เรื่องทำให้เด็กมีรายได้ระหว่างเรียน และเรียนจบมาแล้วมีงานทำ และมีศักยภาพในแข่งขัน
เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่นอกเขตชลประทานกว่า 80% ทำให้ยังมีชุมชนอีกมากที่อยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำและเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำ จึงนับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนับสนุนชุมชนให้มีการจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ
หลักสูตรชลกร เป็นการปฎิรูปองค์ความรู้ตามศาสตร์พระราชามาผสมผสานกับองค์ความรู้สากล โดยเปิดสอนครั้งแรกในประเทศไทย และได้บรรจุในหลักสูตร ปวส. โดยเปิดทำการสอนมาแล้ว 2 รุ่น โดยมีเด็กจบรุ่นแรก จำนวน 245 คน
พื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นนำร่องในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารทรัพยากรน้ำในพื้นที่ชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในวงกว้าง ที่สำคัญโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในระยะยาวในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพมาพัฒนาประเทศต่อไป