กรมควบคุมมลพิษ ผนึกกำลัง ม.สุรนารี เร่งหา องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น PM2.5 ในการจำแนกแหล่งกำเนิดหลัก ในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองหนองคาย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบว่ามีระดับ PM2.5 สะสมสูงในบางช่วงของปี ซึ่งเทศบาลเมืองหนองคายเป็นเมืองขนาดกลาง ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง จากลักษณะดังกล่าวไม่ควรมีการสะสมของ PM2.5 สูงบ่อยครั้ง แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามีปริมาณ PM2.5 สูงบ่อยครั้งและบางครั้งสูงกว่าเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รู้จักวิธีใช้แอป "เช็คฝุ่น" ดึงภาพดาวเทียมมาวิเคราะห์ ฝีมือ GISTDA-ม.เกษตร
ฝุ่น PM 2.5 วันนี้ กทม.อากาศแย่ พุ่งเกินมาตรฐาน 67 พื้นที่ โซนไหนบ้าง เช็กเลย
ฝุ่นเกินต้าน! หลายจังหวัดในภาคเหนือ ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน
ค่าดัชนี AQI และ PM2.5 แตกต่างกันอย่างไร ? ค่ามาตรฐานฝุ่นไทยห่างจาก WHO 3 เท่า
แอพฯ Sensor for All แจ้งเตือนค่าฝุ่น PM 2.5 แม่นยำ เซ็นเซอร์ตรวจกว่า 1,200 จุด
นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า คพ. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยได้รับงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ดำเนินโครงการ “องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละออง PM2.5 ในการจำแนกแหล่งกำเนิดหลักในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองหนองคาย” โดยมีวัตถุประสงค์
1.เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบหลักทางเคมีของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคาย
2.เพื่อประเมินสัดส่วนของแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคาย
3.เพื่อค้นหาปัจจัยที่มีผลต่อการสะสมฝุ่นละออง PM2.5ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคาย
การศึกษาได้ดำเนินการวิเคราะห์ลักษณะขององค์ประกอบทางเคมี และหาสัดส่วนของแหล่งกำเนิดหลักของ PM2.5 ร่วมกับข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ข้อมูลการเคลื่อนที่ของกระแสอากาศ (Back Trajectory) การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงจุดเผาไหม้ในพื้นที่ใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้าน และการใช้แบบจำลอง Positive Matrix Factorization (PMF) มาช่วยในการวิเคราะห์
ซึ่งผลจากการศึกษาทำให้ได้ข้อมูลสำคัญที่สามารถบ่งชี้ถึงองค์ประกอบทางเคมี สัดส่วนของแหล่งกำเนิดที่สำคัญและปัจจัยที่มีผลต่อการสะสมของ PM2.5 ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคายได้ นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาระหว่างหน่วยงานต่างๆ จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหา PM2.5 ในพื้นที่เทศบาลเมืองหนองคาย และขยายผลสู่จังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันได้