เปิดแนวทางรับมือ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว หากชีวิตจริงต้องเจอแบบแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ที่รุนแรงขนาดนี้ หากชีวิตจริงต้องเจอกับภัยพิบัติรุนแรงแบบคาดไม่ถึง ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
เหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี - ซีเรีย ที่กลายเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติ ที่พุ่งชนกับความสูญเสียครั้งใหญ่ เพราะนับจากวันที่เกิดเหตุ วันที่ 6 ก.พ. 2566 จนถึงเวลานี้ (9 ก.พ.66) พบผู้เสียชีวิตจากความเศร้าครั้งนี้แล้วกว่า 12,000 คน โดยเป็นผู้เสียชีวิตในตุรกีกว่า 8,500 คน และในซีเรียกว่า 2,500 คน นับเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ท่ามกลางความกังวลว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นกว่านี้อีกเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ เนื่องจากยังคงมีหลายครอบครัวที่ระบุว่า บุคคลในครอบครัวของพวกเขายังคงสูญหาย และ การประเมินจากผู้เชี่ยวชาญที่ชี้ว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารกำลังลดลงเรื่อยๆ
ขณะที่ เรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ลงพื้นที่ประสบภัย ชี้แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย รุนแรงเกินกว่าที่รัฐบาลจะเตรียมรับมือไหว ผู้นำตุรกีชี้ว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติที่รุนแรงถึงขนาดนี้ แต่รัฐบาลตุรกีก็จะไม่ทิ้งพลเมืองไว้ข้างหลัง จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ก่อนจะยืนยันว่า รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยรัฐบาลตุรกีเพิ่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ประสบภัย 10 จังหวัด เป็นเวลา 3 เดือนด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประมวลเหตุแผ่นดินไหวหนักที่สุดในรอบ 20 ปี เฮติสูญเสียเกิน 2 แสนชีวิต
• เปิดแนวทางรับมือแผ่นดินไหว หากชีวิตจริง ต้องเจอแบบแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย
เหตุการณ์แผ่นดินไหวตุรกี - ซีเรีย ครั้งนี้ ทำให้จุดประกายประเด็น ให้นึกถึง วิธีการรับมือ หากต้องเจอกับแผ่นดินไหว ในชีวิตจริงๆ ซึ่งถึงแม้ ประเทศไทย จะไม่เสี่ยง ต่อการเกิดแผ่นดินไหว แต่การรู้วิธีการรับมือแผ่นดินไหว ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต
แนวทางการปฏิบัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวไม่ว่าจะเป็นครั้งใดๆ ถือเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ทุกขณะ ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ทุกคนจำเป็นต้องทราบแนวทางการปฏิบัติเพื่อเอาตัวรอดในยามที่เกิดแผ่นดินไหว ด้วยหลักการซ้อมหลบภัย: "หมอบ ป้อง เกาะ"
กรณีที่แผ่นดินไหว แล้วยังอยู่ภายในตัวอาคารขณะเกิดแผ่นดินไหว ควร "หมอบ" ลงกับพื้น แล้วใช้มือ "ป้อง" ศีรษะและคอ เพื่อป้องกันสิ่งของหรือเศษวัสดุที่อาจตกใส่ หรือหาที่กำบังแข็งแรง เช่น โต๊ะ ยึด "เกาะ" ไว้ให้แน่นจนกว่าแรงสั่นสะเทือนจะหยุดลงแล้วจึงออกไปยังสถานที่ปลอดภัย
กรณีที่อยู่กลางแจ้ง ควรอยู่ให้ห่างจากตัวอาคาร ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาและสายไฟฟ้า แต่หากเกิดแผ่นดินไหวข ณะที่ขับรถอยู่ ให้หาที่จอดรถทันที และอยู่ภายในรถจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัย
โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการจำหลักการซ้อมหลบภัยนั่นคือ "หมอบ ป้อง เกาะ"ซึ่งอาจช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ในยามที่ภัยมาเยือน
สิ่งที่ต้องปฏิบัติก่อนการเกิดแผ่นดินไหว
1.เตรียมไฟฉายพร้อมถ่านและกระเป๋ายา
2.เตรียมเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น ถังดับเพลิง ถุงทราย
3.อย่าวางของหนักบนชั้นหรือหิ้งสูง ๆ
4.ผูกเครื่องใช้หนัก ๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
5.ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมายเมื่อเกิดการพลัดหลงกัน
6.สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว
ข้อควรปฏิบัติ ขณะเกิดแผ่นดินไหว
1.อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติ
2.กรณีอยู่ในบ้าน ให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง
3.กรณีอยู่ในอาคาร หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น หมอบใต้โต๊ะ หรือจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง
4.ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา อาคาร และสิ่งห้อยแขวนต่างๆ
5.อย่าใช้สิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น
6.หากกำลังขับรถ ให้หยุดรถในบริเวณที่ปลอดภัย
7.ห้ามในลิฟต์โดยเด็ดขาด ขณะเกิดแผ่นดินไหว
8.กรณีอยู่ชายทะเล หากสังเกตเห็นน้ำทะเลลดระดับรวดเร็ว ให้รีบหนีขึ้นที่สูง เพราะอาจเกิดสึนามิ
ข้อควรปฏิบัติ หลังเกิดแผ่นดินไหว
1.หลังเกิดแผ่นดินไหวควรตรวจสอบดูว่าตนเองและคนรอบข้างได้รับบาดเจ็บหรือไม่
2.หากบาดเจ็บจากแผ่นดินไหว ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำตัวผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลหรือหน่วยแพทย์ที่ใกล้ที่สุด
3.หากอยู่ในอาคารที่ได้รับความเสียหายควรรีบออกจากอาคารทันที
4.ควรสวมใส่รองเท้าหุ้มส้น เพราะอาจมีเศษแก้วหรือวัตถุแหลมคมอื่น ๆ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ
5.ตรวจสอบความเรียบร้อยของสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส
6.หากแก๊สรั่วภายในบ้านให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบานเพื่อระบายอากาศ
7.ให้ออกจากบริเวณที่มีสายไฟขาดหรือสายไฟพาดถึง
8.ให้เปิดฟังวิทยุเพื่อฟังคำแนะนำฉุกเฉิน
9.สำรวจความเสียหายของท่อน้ำ ท่อน้ำทิ้ง ท่อส้วม ก่อนใช้
10.ห้ามเข้าไปมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสี่ยงหรือมีอาคารพัง
11.อย่าแพร่ข่าวลือ หรือหลงเชื่อข่าวลือ ให้มีวิจารณญาณในการรับสาร