กกพ. เปิด 3 ทางเลือก ปรับขึ้นค่า Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยจาก 4.72 บาทต่อหน่วย อาจเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 , 5.70 และ 6.03 บาทต่อหน่วย สร้างสถิติค่าไฟสูงที่สุด เปิดรับฟังความเห็นระหว่าง 14-27 พ.ย.นี้ก่อนประกาศใช้จริง
วันนี้ คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุม กกพ.เมื่อวันที่ 9 พ.ย. มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ประจำรอบ พ.ค. - ส.ค. 2565 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่า Ft สำหรับงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566
โดยมีการนำค่า Ft ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งผลให้ค่า Ft ปรับเพิ่มขึ้นโดยแบ่งเป็น 3 กรณี ดยจะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนผ่านเว็บไซต์สำนักงานกกพ.ระหว่างวันที่ 14-27 พ.ย.ก่อนที่จะพิจารณาและประกาศผลอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ธ.ค. 2565 เพื่อบังคับใช้ต่อไป สำหรับทั้ง 3 กรณีดังกล่าวได้แก่
กรณีที่ 1
ค่า Ft เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย
บทความที่เกี่ยวข้อง
เจาะ “ตลาดไฟฟ้าเสรี” ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของผู้ผลิตและผู้บริโภค
อดีต รมว.พลังงาน ซัดรัฐบาล ทำอะไรอยู่ ประชาชนเดือนร้อน ค่าแก๊ส ค่าไฟแพง
กรณีที่ 2
ค่า Ft เรียกเก็บ ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3
ค่าFt เรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย
โดยคมกฤช กล่าวว่า “ค่า Ft ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมานั้นปรับเพิ่ม 68.66 สตางค์ต่อหน่วยมาอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วยทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากงวดนี้จะให้คงไว้ที่เดิมก็จะทำให้ กฟผ. ต้องแบกภาระที่เป็นตัวเลขจริงเพิ่มเป็น 1.7 แสนล้านบาท (ตั้งแต่ พ.ค.-ส.ค. 64 - ส.ค. 65) หากรวมตัวเลขประมาณการณ์ที่ กฟผ.คาดว่าจะเกิดขึ้นในงวด ก.ย.-ธ.ค.65 อีก 3.4 หมื่นล้านบาท จะราว 2 แสนล้านบาท หากถามว่าจะตรึงค่าไฟได้ไหมคงอยู่ที่นโยบายรัฐบาล ซึ่งหากจะให้ค่าไฟลดก็อาจพอมีวิธีคือ การเปลี่ยนหลักการเช่นให้ประชาชนใช้ก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกก่อน แต่เมื่อเอกชนใช้ราคาแพงที่สุด สินค้าจะแพงก็จะย้อนกลับมาสู่ประชาชนอยู่ดี
"สำหรับค่าไฟฟ้าที่แพงมาจากปัจจัยด้านเชื้อเพลิงเป็นสำคัญโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักที่สูงขึ้นกว่างวดก่อนถึง 82.66% รวมถึงถ่านหินนำเข้า นอกจากนี้ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าก็ยังส่งผลต่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะหันไปใช้น้ำมันเตา และดีเซลแต่ราคาก็ยังคงสูงขึ้นเช่นกัน
"โดยสถานการณ์ไฟฟ้าไทยยังอ่อนไหวและยังคงผันผวนระดับสูงจากความไม่แน่นอน ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณจะเข้าสู่ภาวะปกติได้มากน้อยเพียงใด เพื่อลดพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงมาทดแทน ขณะเดียวกันราคาLNG ตลาดโลกยังแกว่งตัวระดับสูงจากอุปสงค์ที่เพิ่ม ฯลฯ ดังนั้นหากมองทิศทางการเพิ่มขึ้นของก๊าซธรรมชาติ อ่าวไทยค่าไฟก็มีโอกาสจะลดลงมาสู่ระดับ 4-5 บาทต่อหน่วยได้"
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ : กกพ. คาดค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย. 2566 พุ่งเตะ 5.37-6.03 บาท