svasdssvasds

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝนตกหนักรอบ 6 ปี เปิดข้อมูลล่าสุดและแผนรองรับแบบละเอียด

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝนตกหนักรอบ 6 ปี เปิดข้อมูลล่าสุดและแผนรองรับแบบละเอียด

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝนตกหนักรอบ 6 ปี เปิดข้อมูลล่าสุดและแผนรองรับแบบละเอียด กทม. ชี้ฝนตกมากที่สุดในรอบหลายปี ย้ำทุกฝ่ายร่วมมือไม่มีความขัดแย้ง

12 ก.ย. 65 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 20/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  ดินแดง โดยภายหลังจากการประชุมฯ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล และผศ.ดร.ทวิดา  กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงข่าวสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อคลายข้อสงสัยและข้อห่วงกังวลของประชาชน

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝนตกหนักรอบ 6 ปี เปิดข้อมูลล่าสุดและแผนรองรับแบบละเอียด

ฝนตกหนักที่สุดในรอบ 6 ปี ภาพรวมสถานการณ์ทั่วไปดีขึ้น 

ปัญหาน้ำท่วมของ กทม. ครั้งนี้ มาจากปริมาณน้ำฝนเกินกว่าปกติค่อนข้างมาก ทำให้ปริมาณน้ำเต็มในคลองแนวเหนือใต้ ทั้งคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว จากคลองหกวาสายล่าง-แสนแสบ ทำให้เกิดน้ำท่วมแถวบริเวณรามอินทรา หลักสี่ ดอนเมือง ในส่วนคลองแนวตะวันออก-ตก คือ คลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งระดับน้ำสูงทำให้เขตลาดกระบังมีปัญหา โดยปกติจะระบายน้ำออกไปทางทิศตะวันออกผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ซึ่งควบคุมโดยกรมชลประทาน การผันน้ำเข้า-ออกจะต้องดูบริบทโดยรอบด้วย เช่น ฉะเชิงเทราอาจมีน้ำสูงอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่ผันน้ำออกทางออกตะวันออก ก็ต้องเปลี่ยนเป็นทางตะวันตก โดยผ่านประตูระบายน้ำพระโขนง  ระยะทางเกือบ 40 กิโลเมตร ตอนนี้คลองประเวศฯ กำลังเต็มล้น ระดับน้ำสูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 54 ซึ่งปีนั้นเป็นสถานการณ์น้ำเหนือ ลาดกระบังรับที่ปลายน้ำจึงไม่หนักมาก  ที่น้ำมากจะเป็นแถวรังสิต ดอนเมือง สำหรับปีนี้ลาดกระบังหนักอีกทั้งการระบายน้ำทำได้ยาก เนื่องจากน้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบ 

อย่างไรก็ดีเมื่อฝนอ่อนกำลังลง ทำให้สามารถระบายน้ำทางคลองลาดพร้าวได้ดีขึ้น ขณะนี้น้ำลดลง 50% ทำให้ที่วงเวียนบางเขน ถนนพหลโยธินแห้งแล้วเป็นส่วนใหญ่ ด้านคลองเปรมประชากรน้ำลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าจัดการ 2 คลองหลักได้พื้นที่ดังกล่าวจะไม่มีปัญหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ปัญหาหลักคือ คลองประเวศบุรีรมย์ ซึ่งน้ำระบายได้ช้า เพราะมีระยะทางไกลกว่าที่น้ำจะมาถึงสถานีสูบน้ำพระโขนง ถ้าเปิดประตูน้ำเร็วไปจะมีผลกระทบกับพื้นที่พระโขนงและสะพานสูง จึงต้องค่อย ๆ ทยอยดันน้ำและสูบออก โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของ กทม. ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม มีเพียงพื้นที่ที่อยู่ใกล้คลอง ซึ่งมีข้อจำกัดทางกายภาพจะประปัญหาเมื่อมีถ้าฝนตกปริมาณมาก

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝนตกหนักรอบ 6 ปี เปิดข้อมูลล่าสุดและแผนรองรับแบบละเอียด

น้ำเหนือขณะนี้ยังไม่น่ากังวล

ด้านรองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำเหนือขณะนี้ยังไม่น่ากังวล ปัจจุบันน้ำที่ไหลผ่านบางไทร มีปริมาณ เฉลี่ย 1,800 ลบ.ม/วินาที ซึ่งจุดเตือนภัยจะอยู่ที่ระดับ 2,500 ลบ.ม/วินาที มีการประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานและคณะกรรมการน้ำในการบริหารจัดการน้ำเหนืออย่างใกล้ชิด ปัญหาตอนนี้เกิดจากน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สามารถเตรียมการณ์ล่วงหน้าได้ คาดการณ์ระยะเวลาที่น้ำจากบางไทรถึงกรุงเทพฯ อย่างน้อย 12 ชั่วโมง

ปริมาณน้ำฝนเดือน ก.ย. ปี 65 ทุบสถิติสูงสุดในรอบหลายปี

นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ปริมาณฝนตกต่อวันในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงเดือนนี้ค่อนข้างหนัก ซึ่งระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม– 12 กันยายน 2565 มีจำนวนวันที่ฝนตกหนักเกิน 120 มิลลิเมตร มากถึง 10 วัน โดยมีค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝน 10 วันแรกของเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 96.5 มิลลิเมตร ส่วนค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำฝน 10 วันแรกของเดือนกันยายนในปีก่อน อยู่ที่ 52.2 มิลลิเมตร และเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 มีปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 112.7 มิลลิเมตร ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบ 6 ปี

เตรียมวางแผนรองรับสถานการณ์ล่วงหน้า 

ที่ผ่านมา กทม. ได้เตรียมการล่วงหน้า ในการขุดลอกคลองเปิดทางน้ำไหล ซึ่งเป็นเส้นเลือดหลัก จำนวน 32 คลอง เปิดทางน้ำไหล ระยะทาง 1,332 กม. ดำเนินการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย 3,358 กม. และได้ทำความสะอาดท่องระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว จะเห็นว่าที่ฝนตกมาน้ำไม่ได้มีการท่วมกระจาย จะมีเฉพาะจุดที่มีท่วมหนักจริง ๆ ที่เกินกำลังความสามารถในการรับน้ำในคลอง 

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝนตกหนักรอบ 6 ปี เปิดข้อมูลล่าสุดและแผนรองรับแบบละเอียด

มาตรการช่วงวิกฤต

ในการระบายน้ำของ กทม. มี 4 คลองหลัก ได้แก่ คลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร จากทิศเหนือลงใต้ ผันออกสู่เจ้าพระยา  ในส่วนของคลองลาดพร้าว ได้ดำเนินการเพิ่มการระบายน้ำออกจากคลองลาดพร้าวโดยการผันน้ำเข้าอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน โดยผ่านคลองชวดใหญ่ คลองสามเสน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มในคลองสามเสนเพื่อเร่งระบายลงสู่อุโมงค์บึงมักกะสันต่อไป ในส่วนของคลองเปรมประชากร มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแนวคลองเปรมประชากร ตั้งแต่ช่วงพื้นที่เขตดอนเมืองถึงเขตบางซื่อจำนวน 18 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่สถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในคลองบางเขนมีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 2 เครื่อง เพื่อผันน้ำและเร่งระบายน้ำออกจากคลองเปรมประชากรไปสู่สถานีสูบน้ำบางเขนเพื่อออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นได้ว่าคลองลาดพร้าวน้ำลงดี ถ้าฝนไม่เพิ่มมาก คิดว่าสถานการณ์ในกรุงเทพเหนือจะดีขึ้น 

ในส่วนของตะวันออก เริ่มจากคลองแสนแสบเป็นเส้นทางหลักที่อยู่ในแนวกลาง ด้านนอกได้ยกระดับบานประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ (ตอนคลองบางชัน) เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการระบายน้ำจากพื้นที่ภายนอกคันกั้นน้ำ  (เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี และเขตหนองจอก) เข้าสู่พื้นที่ด้านใน ตามขีดความสามารถการระบายน้ำปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่จะระบายลงสู่คลองประเวศบุรีรมย์ เขตลาดกระบัง ส่วนคลองประเวศบุรีรมย์ซึ่งเป็นคลองหลักของการระบายน้ำฝั่งตะวันออก ถ้าสถานการณ์ดีที่คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตดีขึ้น จะได้เร่งกำลังสูบออกไปทางฝั่งตะวันออก 

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ต้องระบายน้ำออกมาทางคลองพระโขนงทางฝั่งตะวันตก เพื่อให้คลองประเวศบุรีรมย์ดีขึ้น โดยยกระดับบานประตูระบายน้ำกระทุ่มเสือปลา คลองประเวศบุรีรมย์ เพื่อเพิ่มการระบายน้ำพื้นที่ภายนอกคันกั้นน้ำฯ (เขตลาดกระบัง) เข้าสู่พื้นที่ด้านในตามขีดความสามารถการระบายน้ำปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีการเสริมกระสอบทราย และช่วยเร่งระบายน้ำจากพื้นที่เขตลาดกระบังผ่านคลองพระโขนงลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากไม่สามารถระบายผ่านพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการได้เพราะระดับน้ำในพื้นที่สมุทรปราการสูงกว่าพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในคลองประเวศบุรีรมย์ต่อเนื่องคลองพระโขนง จำนวน 14 เครื่อง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคลองย่อย เช่น คลองในพื้นที่รามอินทราที่มีปัญหา ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ได้รับจากสนับสนุนจากกรมชลประทาน เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่รามอินทราตอนเหนือ นอกจากนี้ ที่คลองบางนาได้มีการทำทำนบและทยอยเร่งสูบออกไป เพื่อให้น้ำไปถึงสถานีสูบน้ำวัดบางนานอก โดย กทม. ได้รับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำจากกรมชลประทาน จำนวน 21 เครื่อง และจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย จำนวน 15 เครื่อง ซึ่งจะนำไปติดตั้งบริเวณจุดสำคัญ และอยู่ระหว่างประสานการขอรับการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก

มาตรการรองรับกรณีเกิดน้ำท่วมจริง

นอกเหนือจากมาตรการในเชิงโครงสร้าง ได้แก่ ลอกคูคลอง เปิดทางน้ำไหล ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ พร่องน้ำในคลอง ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ กระสอบทราย แล้วยังได้ใช้มาตรการที่ไม่ใช่เชิงโครงสร้าง  ในการเตรียมเข้าสู่สถานการณ์ (Emergency Preparedness) ได้ฝึกส่วนการสื่อสารในภาวะวิกฤตไว้ เพื่อให้ทำหน้าที่สื่อสารสาธารณะได้  สั่งจัดเตรียมทรัพยากรฉุกเฉินและจัดทำบัญชีเครื่องมือ ประสานขอรับการสนับสนุนส้วมกระดาษจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมการกำหนดจุดจัดตั้งศูนย์พักพิง การรับและจ่ายทรัพยากรช่วยเหลือ การส่งยาสามัญในภาวะน้ำท่วมลงพื้นที่ การให้บริการรถสูงประจำจุดเชื่อมการเดินทาง ส่งทีมช่างจากกองโรงงานช่างกลช่วยเหลือประชาชนที่ยานพาหนะมีปัญหาในบริเวณน้ำท่วมขัง พร้อมประสานกับสถาบันอาชีวะต่างๆ ในพื้นที่นำนักศึกษาอาจารย์ลงมาช่วย ซึ่งจะได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบผ่านช่องทางต่างๆ ของ กทม. ในวงกว้างมากขึ้น

จัดตั้งครัวสนาม ศูนย์พักพิง รถให้บริการ พร้อมช่วยเหลือประชาชน 

สำหรับการจัดตั้งโรงครัวนำส่งอาหารให้ถึงที่สำหรับประชาชนที่เดินทางออกมายากลำบาก เกือบพันกล่องต่อวัน ศูนย์พักพิงเขตหลักสี่ใช้สถานที่โรงเรียนบางเขน  เขตดอนเมืองใช้สถานที่ศูนย์เยาวชนดอนเมือง  เขตบางเขนมีศูนย์พักพิงที่สำนักงานเขตด้วย  มีเกือบทุกจุด แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีคนมาพักพิง เพราะประชาชนเป็นห่วงทรัพย์สินที่บ้าน ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านเพื่อนหรือบ้านญาติ กลุ่มที่เข้าออกยากจะมีรถให้บริการ รวมถึงยาสำหรับผู้ป่วย นมสำหรับเด็ก ผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ โดยสำนักงานเขตดำเนินการจัดหาและขอความช่วยเหลือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย นอกจากนี้ ยังมีการทำกระสอบทรายเพิ่ม ซึ่งมีแผนรองรับไว้หมดแล้ว

กำชับโครงการก่อสร้างขุดลอกท่อป้องกันเศษวัสดุตกลงท่อระบายน้ำ

ยกตัวอย่างถนนเทพรักษ์ เขตบางเขน มีการก่อสร้างถนน ได้บอกให้สำนักการโยธาไปเร่งรัดผู้รับเหมาแล้ว แต่บางถนน เช่น ถนนแจ้งวัฒนะเป็นถนนของกรมทางหลวง และไม่ใช่โครงการของ กทม. ต้องขอความร่วมมือ เอาจุดที่น้ำท่วมขังเป็นตัวชี้ว่าจุดไหนมีปัญหา ซึ่งต้องลงไปดูให้ละเอียด เร่งรัดผู้รับเหมา และต้องนำมาตรการที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ เช่น ถ้ามีผลกระทบต้องให้หยุดการก่อสร้างก่อน ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไขที่กำหนดหรือใบอนุญาตก่อสร้าง ต้องให้หยุดการก่อสร้างและปรับปรุงให้ได้ โดยเฉพาะจุดที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งมี 2 เรื่องหลักที่ขอความร่วมมือ รฟม. คือ 1. การขุดลอกในพื้นที่ก่อสร้างไม่ให้ท่อน้ำอุดตัน 2. การคืนผิวการจราจร รวมถึงความปลอดภัยในบริเวณก่อสร้างด้วย ซึ่งทาง รฟม. ได้ให้ความร่วมมือ และพูดคุยกันเพื่อกำหนดแผนงานที่ชัดเจนว่าจะคืนผิวจราจรเมื่อไร แผนงานเป็นอย่างไร จะเร่งรัดได้อย่างไร ในส่วนเศษวัสดุก่อสร้างในไซด์งานอยากให้กำชับผู้รับจ้างให้ดี บางทีขุดลอกไปแล้วก็จริง แต่ก็มีเศษวัสดุก่อสร้างใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาได้ต้องคอยติดตาม ซึ่งอาจจะไม่ได้ทิ้ง แต่พอฝนตกน้ำฝนก็ชะกองหินกองทรายลงไป นอกจากนี้ ต้องดูแลเรื่องทางเดินเท้าด้วย เช่น แยกหลักสี่ บางเขน ทางเดินเท้ามีปัญหามาก ทางเดินเท้ามองไม่เห็น ทำให้เกิดอันตราย

น้ำท่วมกรุงเทพฯ ฝนตกหนักรอบ 6 ปี เปิดข้อมูลล่าสุดและแผนรองรับแบบละเอียด

ย้ำมีการประสานความร่วมมือทุกหน่วยงาน ไม่มีความขัดแย้ง

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า กทม. มีการร่วมมือประสานงานกับทุกหน่วยงานตลอด กรมชลประทาน กรมป้องกันสาธารณภัย ร่วมมือร่วมใจกัน คงต้องลงพื้นที่ดูแลลาดกระบังให้เข้มข้นขึ้น ทั้งอาหาร ยา เมื่อวานนี้ (11 ก.ย. 65) มีชาวบ้านจูงมือเดินเข้าไปที่ประตูน้ำลาดกระบัง มีชาวบ้านที่อยู่ซอย 34/6 รวมตัวกันชวนเข้าไปดู ประมาณ 40 หลังคาเรือน แต่เป็นหมู่บ้านเอกชน ไม่ใช่ทางสาธารณะแต่เราก็ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ก็ได้แจ้งผู้อำนวยการเขตลงไปให้ความช่วยเหลือ อาหาร ยา ผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องดูแล

ระยะยาวต้องทำคลองให้มีประสิทธิภาพ ดูแลคนริมคลอง บริหารเชิงสังคมและเชิงเทคนิคไปด้วยกัน

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า ในระยะยาว ต้องทราบก่อนว่าฝนตกหนักขึ้น ซึ่งกำลังเดิมของคลองและท่อระบายน้ำที่มีอยู่ไม่พอ ต้องมีการวางแผน อุโมงค์อย่างเดียวตอบโจทย์ไม่ได้เพราะฝนตกหลายที่ ไม่ได้ตกที่อุโมงค์ ดังนั้น การดันน้ำไปถึงอุโมงค์ ต้องมีระบบลำเลียงน้ำไปที่อุโมงค์ได้ ยกตัวอย่างอุโมงค์คลองแสนแสบ มีอุโมงค์ก็จริงแต่น้ำลาดพร้าวไม่สามารถไปถึงเพราะคลองไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการวางแผนในระยะกลางและระยะยาว ทำระบบน้ำให้ดี อาจจะแก้ไม่ได้ภายในเดือนสองเดือน ดังนั้นงบประมาณที่แต่ก่อนไปทุ่มให้กับอุโมงค์จำนวนมากหลายหมื่นล้าน อาจต้องแบ่งบางส่วนมาทำ เขื่อน คู คลอง ให้เข้มแข็งขึ้น เช่น เครื่องสูบน้ำที่ประตูพระโขนง มีทั้งหมด 45 เครื่อง เป็นเครื่องเก่าหมดเลย ระยะยาวอาจจะต้องปรับให้ทันสมัยขึ้น กินน้ำน้อยลง ปัจจุบันใช้น้ำจุ่ม ถ้าน้ำน้อยเครื่องจะน็อคเพราะว่าต้องอาศัยน้ำ ถ้าจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ต้องใช้เวลา มีการออกแบบ เปลี่ยนระบบ อาจจะต้องรอจังหวะทำระบบชั่วคราว นี่คือการวางแผน 

นอกจากนี้ มีการทำพื้นที่ปิดล้อมย่อย (Sub-Folder) ในพื้นที่ใหญ่บริเวณพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง อย่างพื้นที่ด้านตะวันออกที่ตอนนี้อุโมงค์บึงหนองบอนยังไม่เสร็จ ระหว่างนี้คงรอไม่ได้เพราะต้องใช้ระยะเวลาหลายปี ก็จะทำพื้นที่ปิดล้อมย่อย (Sub-Folder) ล้อมเพื่อให้ดูดน้ำให้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้การบริหารจัดการได้ดีขึ้น ส่วนคลองไหนที่รับได้ก็จะผันน้ำไปคลองนั้น 

“นี่คือสิ่งเตือนที่ดีเลยนะ ว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อก่อนฝนตก 60-70 ม.ม. ไม่ได้เกิดที่เราอย่างเดียว มันเกิดทั่วโลก นี่ก็เป็นอุทาหรณ์ว่าต่อไปต้องคิดระบบภาพรวมที่ต้องลงทุน และแนวคิดเดิมเช่น เรื่องอุโมงค์ อาจจะต้องคิดใหม่ว่า ประตูระบายน้ำ ปั๊มน้ำก็สำคัญ สิ่งหนึ่งที่ต้องทำแน่นอนคือเรื่องของชุมชนที่ต้องอยู่ริมน้ำ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของคลองลดลง ต้องดูแลเขาว่าจะเอาเขาขึ้นมาได้อย่างไร ถ้าเราจะให้น้ำไหลเร็วต้องดูแลพี่น้องกลุ่มนี้ด้วย ถ้าเขาขึ้นได้มีบ้านให้เขาอยู่ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ ต้องบริหารทั้งเชิงสังคมและเชิงเทคนิคไปด้วยกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ย้ำบริหารน้ำบูรณาการความร่วมมือกับทุกฝ่าย

ในส่วนหน่วยงาน กทม. มีการบูรณาการร่วมกันอยู่แล้วกับกรมชลประทาน ซึ่งมีจุดเชื่อมต่อกันไม่กี่จุด ตรงด้านใต้คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต สำนักการระบายก็คุยเรื่องบริหารงานตลอด คนทำงานในพื้นที่มีการคุยกันตลอด แต่มันมีเงื่อนไขในเรื่องสภาพทางกายภาพด้วย กรมทางหลวงก็คุย เกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างที่อาจจะอุดตันทางน้ำ ซึ่งท่านอธิบดีกรมทางหลวงก็ให้ความร่วมมืออย่างดี 

“เมื่อ 2 เดือนก่อน เราไปคุยกับกรมชลประทานที่ประตูระบายน้ำ ทุกคนคุยกันตลอด อย่างที่บอก กทม.ดูกรุงเทพฯ กรมชลประทานดูภาพรวม เชื่อว่าเขาต้องบริหาร จะปล่อยให้กรุงเทพฯ รอด หรือปล่อยกรุงเทพฯ ท่วมก็ไม่ได้ เราต้องบริหารตามสภาพโดยมีหน่วยงานกลาง คือ กรมชลประทานเป็นคนประสาน ถ้าไม่มีกรมชล ผมว่าเกิดอุทกภัยได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ด้านรองผู้ว่าฯ ทวิดา อธิบายเพิ่มเติมว่า ในเรื่องของความร่วมมือ กทม.ได้ทำงานกับกรมชลประทานและ สทนช. มาตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย สทนช. ให้ข้อมูลด้วยซ้ำว่าฝนและน้ำเหนืออาจจะมาเร็วกว่าเดิม จาก ต.ค. เป็นเดือน ก.ย. การประสานงานในส่วนของการดูระดับน้ำได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ต้น ซึ่ง กทม. ได้บริหารจัดการการเปิด-ปิดประตูน้ำลาดกระบังมาเป็นระยะ ๆ การเปิดน้ำ กทม. ยังกังวลในพื้นที่ 3 เขตว่า ถ้าเปิดมากเกินอาจจะกระทบกับสวนหลวง ประเวศ ซื้อเวลาเปิดๆ ปิดๆ ให้น้ำค่อย ๆ ออกมา ในขณะเดียวกันมีการก่อกำแพงเพื่อรับน้ำที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การจัดการข้ามพื้นที่ยังคงต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนอื่นจะเยอะเกินไป กรมชลประทานพัดมวลน้ำไปทางไหนได้เร็วที่สุด กรมชลประทานก็จะช่วยพร่องน้ำให้ แล้วประสานกับจังหวัดเพื่อให้จังหวัดเตรียมรับมือ ซึ่งกรมชลประทานจะเห็นภาพรวมทั้งหมด

“มีคำถามว่าเราพร่องน้ำเตรียมไว้หรือไม่ เราพร่องตลอด เมื่อไรเราพร่องได้เราพร่อง ความจุของคลองจะต้องเต็มที่ให้ได้มากที่สุด และรองรับน้ำฝนไว้ได้ วิธีการทำงานคือแบบนี้ ไม่ใช่ว่าไม่คุย ไม่คุยไม่ได้ กทม.น้ำจะออกไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้างนอกด้วยว่าเป็นไปได้มากแค่ไหน ที่บอกว่าเราไม่ได้ประสานงานกับกรมอื่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยช่วยเราตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศูนย์พักพิง เครื่องสูบน้ำ สำนักการระบายน้ำขอไปก็ให้ความอนุเคราะห์ อาสาสมัครที่มาช่วยเรา หลาย ๆ ที่เรามีความร่วมมือมาโดยตลอด อาชีวะก็มาช่วยเรา”  รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า ต่อไป กทม. ต้องนัดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ปทุมธานี สมุทรปราการ และเชิญกรมชลประทานร่วมด้วย  โอกาสนี้ได้กล่าวให้กำลังใจชาวลาดกระบัง และเจ้าหน้าที่ กทม.ที่ลุยงานหนักเพื่อเร่งดำเนินระบายน้ำอย่างเต็มที่ และให้ความช่วยเหลือลงไปถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนให้มากที่สุด ในพื้นที่เอกชนบางแห่ง กทม.ก็นำปั๊มไปช่วยสูบน้ำออก แต่ก็มีพื้นที่เอกชนบางจุดที่ไม่ยอมให้เข้าไปเรียงกระสอบทราย คงต้องไปเจราจาขอความร่วมมือเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะเวลาน้ำเข้ามาจะมีประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ

 

related