สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิบายความเป็นมาของคลองประเวศฯ ชี้ เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ในการระบายน้ำ กทม.ตะวันออก พร้อมข้อเสนอแนะในการบรรเทาวิกฤตน้ำท่วม
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อธิบายความเป็นมาของคลองประเวศฯ ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ในการระบายน้ำ กทม.ตะวันออก พร้อมข้อเสนอแนะ เพื่อบรรเทาวิกฤตน้ำท่วม ดังต่อไปนี้
ตนโพสต์ในพื้นที่ส่วนตัว ในฐานะชาวบ้านคนกรุงเทพผู้ประสบภัย และวิศวกรธรณีเทคนิคคนหนึ่ง ขออนุญาตอธิบายกับหลายๆ ท่านที่ได้มาออกความเห็นในโพสต์ก่อนหน้า เพื่อเป็นข้อมูลนะครับ
น้ำท่วมหนัก เพราะคลองประเวศฯ "เส้นเลือดใหญ่" อุดตัน จุดตายน้ำท่วมลาดกระบัง และกรุงเทพตะวันออก
คลองประเวศบุรีรมย์เป็นคลองขุด ในสมัยรัชกาลที่ 5 นำทีมขุดโดย เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ หรือ ท่านเจ้าคุณทหาร เจ้าของที่ดินเดิม ที่ภายหลังได้บริจาคให้สร้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ในอดีต คลองประเวศฯ ใช้ในการชลประทานและการเดินทางทางเรือ ต่อจากคลองพระโขนงแถววัดแม่นาคพระโขนง หรือวัดมหาบุศย์ ขุดขึ้นไปจนบรรจบกับแม่น้ำบางประกง ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ความยาวร่วม 40 กว่ากิโลเมตร
เดิมทีคลองประเวศฯ คือ คลองชลประทานมีลักษณะ ที่ต้องสูงกว่าพื้นที่ดินการเกษตร เพื่อส่งน้ำไหลลง หล่อเลี้ยงดูชุมชนการเกษตร ในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก ดังนั้นการจะระบายน้ำท่วม ก็ต้องสูบน้ำขึ้นเท่านั้น ไม่ได้ไหลลงตามธรรมชาติ
ปัจจุบันการเดินเรือคลองประเวศฯ ต้องประสบอุปสรรค จากการสร้างประตูน้ำกั้นคลองประเวศฯ หลายประตู โดยมีเจตนาเพื่อควบคุมระดับน้ำไม่ให้ไหลตรงสู่เจ้าพระยา ผ่านคลองพระโขนง แล้วไป "สูบขึ้น" แม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง ที่มีเครื่องสูบน้ำยักษ์ 51 เครื่อง คลองประเวศฯ จึงเป็น "เส้นเลือดใหญ่" ใช้ในการระบายน้ำฝั่งกรุงเทพตะวันออก
น้ำท่วมกรุงเทพจะแก้ไม่ถูกจุด ถ้าไม่เข้าใจก่อนว่า แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่สูงที่สุด สูงกว่าถนนสุขุมวิทร่วม 2 เมตร สูงกว่าระดับคลองแสนแสบ คลองประเวศ และคลองสูงกว่าถนน ถนนสูงกว่าซอย กรุงเทพจึงเป็น "เมืองปั๊ม" เพราะต้องสูบน้ำฝืนธรรมชาติ จากซอยสูบขึ้นถนน ถนนสูบขึ้นคลอง และคลองสูบขึ้นเจ้าพระยา ก่อนไหลลงอ่าวไทย
"ลาดกระบัง" และกรุงเทพฝั่งตะวันออก มีการพัฒนาต่อเนื่อง จากพื้นที่การเกษตร กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่บ้านจัดสรร คอนโด ห้างสรรพสินค้า พื้นที่แอ่งรับน้ำ "แก้มลิง" หาได้น้อยลง
ทางรอด ทางแก้ปัญหาทางเดียวของลาดกระบัง คือ การระบายน้ำสู่ "เส้นเลือดใหญ่" คลองประเวศฯ เพื่อไปให้ถึงพระโขนง สูบขึ้นไประบายบนแม่น้ำเจ้าพระยา หรือสูบระบายไปทางตะวันออก ผ่านคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต
แต่น่าเสียใจ "เส้นเลือดใหญ่อุดตัน" ถูกบีบไม่ให้น้ำไหลผ่าน "ประตูน้ำ" ที่แทบไม่เปิดให้น้ำจากคลองประเวศฯ ที่จะรับน้ำลาดกระบัง ได้มีโอกาสไปถึงพระโขนง ลาดกระบังจึงจมน้ำ ทุกข์ระทม
สันนิษฐานว่ามีปัญหา ที่ยังรอแก้ไขเร่งด่วน ดังนี้
1. มีความสงสัยว่า เครื่องสูบน้ำยักษ์ 51 เครื่อง ที่สถานีสูบน้ำพระโขนง ใช้งานได้จริงอยู่กี่เครื่อง ? หรือ สูบน้ำไม่ได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ ? ทำให้ประตูน้ำคลองประเวศฯ ก็ไม่กล้าปล่อยน้ำไปถึงสถานีสูบ กรุงเทพฯ ตะวันออกจึงจมน้ำต่อไป หากให้เครื่องสูบน้ำทั้ง 51 เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ จะช่วยการระบายน้ำคลองประเวศได้ทันที
2. จุดเชื่อมต่อคลองประเวศฯ กับคลองพระโขนง คดเคี้ยว และจากประสบการณ์ที่เคยนั่งเรือลงพื้นที่ พบว่าตลิ่งแถวนั้น กทม.ยังซ่อมไม่เรียบร้อย กลายเป็นฟันหลอ จุดเปราะบาง หากมีน้ำระบายมาทางนี้ ก็กลัวจะทะลัก ผมขอแนะนำให้รีบซ่อมตลิ่งให้เรียบร้อย งานไม่มาก ทำได้เร็ว จะทำให้น้ำไหลสะดวก ไปถึงสถานีสูบน้ำพระโขนงได้ โดยปลอดภัยกับชาวบ้านเขตชั้นใน
3. คลองประเวศฯฝั่งตะวันออก แถวถนนลาดกระบัง-หลวงแพ่ง เชื่อมต่อกับ "คลองพระองค์เจ้าไชยนุชิต" คลองนี้จะไหลลงไปสู่อ่าวไทยฝั่งคลองด่าน สมุทรปราการ กทม. ควรประสานงานให้คลองพระองค์เจ้า สูบแบ่งเบาภาระของคลองประเวศฯ ส่งไปอีกทาง ทำให้พร่องน้ำคลองประเวศฯ ได้ น้ำท่วมลาดกระบังจะได้สูบระบายได้ เพราะตอนนี้คลองประเวศล้นแล้ว น้ำท่วมลาดกระบังไม่มีทางไป
4. ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาซับซ้อน ควรใช้เทคโนโลยีช่วยในการตัดสินใจ บัญชาการ หรืออำนวยการอัตโนมัติ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ
การไม่มีระบบเซนเชอร์วัดระดับน้ำอย่างละเอียด ในพื้นที่ลาดกระบัง และกรุงเทพตะวันออก ทำให้อาจไม่รู้ระดับการเปิดประตูน้ำ ตามสถานการณ์จริง แนะนำให้รีบติดตั้งด่วน ทำได้ทันที หากดำเนินการตามวิธีการ 4 ข้อนี้ จะพอช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้
สุดท้ายนี้ สุชัชวีร์ระบุว่า ขณะที่ตนเขียนอยู่นี้ ผมออกนอกบ้านลาดกระบังไม่ได้ น้ำท่วมสูงมาก จึงหวังว่าคำแนะนำในฐานะชาวบ้านคนกรุงเทพผู้ประสบภัย และวิศวกรธรณีเทคนิคคนหนึ่ง ที่พอจะมีความรู้และประสบการณ์ จะพอช่วยกันได้บ้างครับ
ที่มา FB : เอ้ สุชัชวีร์