svasdssvasds

ผู้เชี่ยวชาญ เตือน กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วม ช่วงตุลาคม 2565

ผู้เชี่ยวชาญ เตือน กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วม ช่วงตุลาคม 2565

ชวลิต จันทรรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ ให้สัมภาษณ์กับ SpringNews ว่าช่วงเดือนตุลาคมนี้ มีปัจจัยต่างๆ ที่ครบครัน ทั้ง ฝนตกหนัก มวลน้ำที่ระบายลงมาจากภาคเหนือ น้ำทะเลหนุนสูง ปัญหาด้านระบบการระบายน้ำ ทำให้กรุงเทพฯ ปริมณฑล เสี่ยงประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมได้

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศเตือนว่า ช่วงวันที่ 5 – 9 กันยายน ฝนจะตกหนักในหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อให้เกิดความกังวลว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือไม่ ? แต่ถ้าช่วงเวลาดังกล่าวไม่ถึงขั้นวิกฤต แล้วช่วงใดในปีนี้ที่มีความเสี่ยงสูง ที่หน่วยงานต่างๆ รวมถึงประชาชนต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้น

SpringNews จึงติดต่อขอสัมภาษณ์ คุณชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยคุณชวลิต ได้อธิบายว่า น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือไม่นั้น มีปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้  

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีอะไรบ้าง ?

 1. ฝนตกหนักมาก / ร่องมรสุม

2. น้ำเหนือ (มวลน้ำที่ระบายลงมาจากภาคเหนือ)

3. น้ำทะเลหนุนสูง

4. ประสิทธิภาพการระบายน้ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ผู้เชี่ยวชาญ เตือน กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วม ช่วงตุลาคม 2565

บทความที่น่าสนใจ

5 -9 กันยายน ฝนที่ตกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นไปตามฤดูกาล

คุณชวลิตกล่าวว่า ในช่วงวันที่ 5 -9 กันยายน สำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล แม้จะมีฝนตกหนัก แต่ก็ถือว่าเป็นฝนที่ตกตามฤดูกาล ไม่มีปัจจัยอื่นๆ มาซ้ำเติม อาทิ พายุ น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้สถานการณ์ไม่น่ากังวลนัก แต่บริเวณที่น่าเป็นห่วงก็คือ ภาคเหนือ กับภาคอีสานตอนบน และชายฝั่งทะเล

“(5 – 9 กันยายน กรุงเทพฯ และปริมณฑล) ก็เป็นฝนตกตามฤดูกาลปกติ ไม่มีพายุเข้ามาซ้ำเติม ซึ่งต้นเดือนกันยายน ร่องความกดอากาศต่ำ หรือร่องมรสุม ที่เป็นสาเหตุทำให้ฝนตกหนัก อยู่ที่ภาคเหนือ กับภาคอีสานตอนบน อีกส่วนหนึ่งก็คือ บริเวณชายฝั่งทะเล (ภาคตะวันออก) เนื่องมาจากการรวมตัวของความชื้นในทะเล

“แต่ฝนจากชายฝั่งทะเล ปริมาณน้ำฝนไม่ได้เยอะมาก ไล่เรียงกันมาตั้งแต่จันทบุรี ตราด ปริมาณน้ำฝนอาจถึง 300 มิลลิเมตร แต่พอมาถึงระยองก็เหลือ 150 – 200 มิลลิเมตร ถัดมาที่ชลบุรี แปดริ้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพฯ ก็เหลือประมาณ 150 มิลลิเมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่จัดการได้ ประกอบกับน้ำเหนือที่ไหลลงมายังแม่น้ำเจ้าพระยา มายังแม่น้ำป่าสัก ก็อยู่ในการควบคุมที่ยังสามารถบริหารจัดการได้เช่นกัน

“โดยฝนที่ตกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 5 – 9 กันยายน จะอยู่ในเกณฑ์ 100 – 150 มิลลิเมตร โดยรวมๆ ก็พอระบายน้ำได้ทัน แต่บางพื้นที่น้ำอาจท่วมบ้างในระยะสั้นๆ เพราะถ้าเกิน 60 มิลลิเมตร ระบบระบายน้ำข้างถนนของเรารับไม่ได้อยู่แล้ว พอสู้ไม่ไหว จึงอาจมีน้ำท่วมขังบ้างในบางพื้นที่ 3 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง หรือ 24 ชั่วโมง แต่ในพื้นที่ลุ่มต่ำก็อาจ 3 วันเลย”

“แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือระหว่างวันที่ 8 -12 กันยายน น้ำทะเลจะหนุนสูงใกล้เคียงกับวันที่ 11 -12 สิงหาคม ที่ผ่านมา เมื่อบวกกับฝนที่ตกในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปริมาณก็เท่ากับ 11 – 12 สิงหาคม เช่นกัน แต่ว่าปริมาณน้ำที่บางไทรจะเยอะขึ้น ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น สำนักงานการจัดการน้ำ กทม. ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องเครื่องสูบน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญ เตือน กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วม ช่วงตุลาคม 2565

ช่วงปลายกันยายน ชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องเริ่มเตรียมความพร้อม

คุณชวลิต ระบุว่า “ช่วงกลางกันยายนเป็นต้นไป ก็มีโอกาสที่ร่องความกดอากาศต่ำ เคลื่อนตัวลงมาเรื่อยๆ มายังบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ทำให้ฝนตกหนัก ซึ่งเป็นการตกใต้เขื่อน แล้วอีก 2 สัปดาห์น้ำก็จะไหลมาถึงกรุงเทพฯ  เพราะฉะนั้นปลายเดือนกันยายน ก็ต้องเตรียมรับมือ หมายถึงบริเวณทุ่งทั้งหลาย ทุ่งอ่างทอง อยุธยา สิงห์บุรี ก็ต้องเตรียมพื้นที่ไว้รับน้ำ รวมถึงต้องเร่งเกี่ยวข้าว เพื่อนำพื้นที่ไว้ใช้เป็นแก้มลิง ซึ่งการจัดการน้ำเหนือ จะเป็นลักษณะอย่างนี้”

ผู้เชี่ยวชาญ เตือน กรุงเทพฯ เสี่ยงน้ำท่วม ช่วงตุลาคม 2565

ตุลาคม 2565 ปัจจัยครบ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เสี่ยงน้ำท่วม

และเมื่อ SpringNews ถามว่า ช่วงเวลาใด กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีความเสี่ยงจะเกิดน้ำท่วม คุณชวลิตตอบในทันทีว่า “เดือนตุลาคม” เพื่อถือว่ามีปัจจัยต่างๆ ที่ครบครัน ได้แก่ ฝนตกหนัก มวลน้ำจากภาคเหนือ ลงมาถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งถ้าหากมีปริมาณน้ำมหาศาลเกินกว่าระบบการระบายน้ำของกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะรองรับไว้ โอกาสที่จะเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ก็มีความเป็นไปได้สูง  

“ช่วงต้นเดือนกันยายน ฝนจะตกหนักที่ภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน แต่ช่วงปลายเดือนกันยายน ร่องมรสุม จะมาพาดผ่านภาคกลาง ภาคอีสานตอนล่าง และภาคตะวันออก เพราะฉะนั้น 3 ภาคนี้ต้องเตรียมรับมือ

“แล้วน้ำฝนช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน น้ำที่ค้างอยู่ในทุ่ง ไม่ว่าจะเป็นทุ่งสิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ลพบุรี ก็จะค่อยๆ ระบายลงมา เพราะฉะนั้น เดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ต้องระมัดระวัง

“ปัจจัยที่ 3 ที่จะซ้ำเติมเข้ามาก็คือ 7 - 11 ตุลาคม น้ำทะเลหนุนสูงอีก ซึ่งจะทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างยากลำบาก แล้วช่วงปลายเดือนตุลาคม น้ำทะเลจะหนุนสูงอีกระลอก โดยช่วงดังกล่าว ร่องมรสุมก็ยังอยู่ที่กรุงเทพฯ

“เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม ต้องมีการเตรียมรับมือ ใครที่อยู่ในที่ลุ่มต่ำ ต้องเตรียมเก็บของขึ้นที่สูง สภาพคล้ายๆ กับปีที่แล้ว แต่จะมากกว่า หมายถึงช่วงเวลานานกว่า ระดับน้ำมากกว่า 10 % พื้นที่น้ำท่วมก็จะมากกว่า 10 %

“เรื่องฟ้าฝน เราเองก็ไปบงการบังคับบัญชามันไม่ได้ ก็ได้แต่พยากรณ์ แล้วดูจากสถิติ ดูจากลานิญา สภาพของภูมิภาค มีโอกาสเกิดมากน้อยขนาดไหน ล่าสุดวันที่ 29 ส.ค. ก็มีการวิเคราะห์ว่า ลานิญาจะอ่อนตัว ทำให้ผ่อนคลายลง ฝนอาจไม่ตกหนักมากเหมือนกับช่วงต้นฤดูกาล

“แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ ประชาชนต้องคอยดูเรื่องขยะต่างๆ ที่ลงไปตามท่อระบายน้ำ ที่ลงไปในคลอง ไปอยู่หน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำ ทำให้เครื่องสูบน้ำมีประสิทธิภาพลดลง เพราะฉะนั้นต้องทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ใครที่อยู่ใกล้คันกั้นน้ำ ต้องคอยดูว่าเกิดชำรุดหรือไม่ ถ้าพบรอยรั่วรอยซึม ก็ต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการซ่อมแซมในทันที”

related