svasdssvasds

เปิดอาชีพเงินเดือนเยอะที่สุด ปี 64 พบสายไอที มาอันดับ 1 เริ่มที่ 2.3 หมื่นบาท

เปิดอาชีพเงินเดือนเยอะที่สุด ปี 64 พบสายไอที มาอันดับ 1 เริ่มที่ 2.3 หมื่นบาท

เปิด 10 อันดับอาชีพเงินเดือนมากที่สุดประจำปี 2564 พบ ระดับพนักงาน สายไอที-เทคโนโลยี มาแรงอันดับ 1 เงินเดือนเริ่มที่ 23,000 บาท ส่วนทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลติดโผหลายสายงาน

จ๊อบส์ ดีบี (JobsDB) แพลตฟอร์มหางาน เผยรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2564 (Salary Report 2021) ข้อมูลฐานเงินเดือนต่ำสุด – สูงสุดแบ่งตามประเภทงาน ครอบคลุมตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ถึงระดับผู้บริหาร โดยรายงานอัตราเงินเดือนพบว่า ในปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ผนวกกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกภาคส่วน ส่งผลเป็นวงกว้างทำให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ต้องหันมาประยุกต์และปรับตัวให้สามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน

อีกทั้งเติบโตไปพร้อมกับแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อขับเคลื่อน ผลักดันให้ธุรกิจก้าวทันโลกที่กำลังเปลี่ยนไป จึงเป็นเหตุให้ความต้องการในตลาดแรงงานส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการจ่ายผลตอบแทนเพื่อดึงดูดคนทำงานเพิ่มมากขึ้นในสายเฉพาะทาง

โดยเฉพาะกลุ่มงานสายงานไอที-ดิจิทัล ทุกระดับงานไต่อันดับขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจประจำปี 2562 โดยเฉพาะในระดับเจ้าหน้าที่ (Officer Level) ที่ขึ้นแท่นอันดับ 1 จากอันดับ 3 อีกทั้งระดับหัวหน้างาน (Supervisor Level) และ ระดับผู้บริหาร (Top Level) ที่ติดโผสายงานหน้าใหม่ที่มีเงินเดือนสูง

จากที่เคยอยู่ในอันดับ 13 และ 12 ตามลำดับ ในเวลาเพียงสองปี ตอกย้ำให้เห็นถึงความต้องการในการปฏิรูปที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption)

เปิดอาชีพเงินเดือนเยอะที่สุด ปี 64 พบสายไอที มาอันดับ 1 เริ่มที่ 2.3 หมื่นบาท

อ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

10 อันดับ สายงานที่ รายได้-เงินเดือน สูงสุด(ระดับเจ้าหน้าที่) ปี 2564 ได้แก่

  1. งานไอที : โปรแกรมเมอร์ พนักงานฝ่ายไอที เงินเดือนเฉลี่ยที่ 23,225-41,122 บาท
  2. งานบริการเฉพาะทาง : ล่ามภาษาญี่ปุ่น จนท.วิเคราะห์ธุรกิจ นักกฎหมาย เงินเดือนเฉลี่ยที่ 22,872-39,331 บาท
  3. งานโทรคมนาคม : วิศวกรระบบเครื่อข่าย เจ้าหน้าที่เทคนิค เงินเดือนเฉลี่ยที่ 22,785- 38,612 บาท
  4. งานบริการด้านการแพทย์ : เภสัชกร เจ้าหน้าที่บำบัด เงินเดือนเฉลี่ยที่ 21,945-37,320 บาท
  5. งานอีคอมเมิร์ซ : เจ้าหน้าที่บริหารงานลูกค้า นักวิเคราะห์ธุรกิจ เงินเดือนเฉลี่ยที่ 21,599-35,283 บาท
  6. งานวิศวกรรม : พนักงานขายงานวิศวกร วิศวกรไฟฟ้า เงินเดือนเฉลี่ยที่ 21,406-35,571 บาท
  7. งานธนาคาร : นักวิเคราะห์ด้านสินเชื่อ นักวิเคราะห์ด้านการเงิน เงินเดือนเฉลี่ยที่ 21,036- 37,623 บาท
  8. งานประกันภัย : เจ้าหน้าที่การตลาดประกันภัย เจ้าหน้าที่รับประกันธุรกิจ เงินเดือนเฉลี่ยที่ 21,025-34,860 บาท
  9. งานจัดซื้อ : เจ้าหน้าที่จัดซื้อ เจ้าหน้าที่จัดหาสินค้าและบริการ เงินเดือนเฉลี่ยที่ 20,829-33,442 บาท
  10. งานการตลาด งาน PR : นักงานขาย Event แบรนด์แอมบาสเดอร์ เงินเดือนเฉลี่ยที่ 20,524-32,589 บาท

นอกจากนี้ 2 สายงานที่น่าจับตามอง ได้แก่

สายงานธนาคาร ปรับขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 10 ของรายงานในทุกระดับงาน สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของทั้งสองสายงานหลังการปฏิรูปที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) เห็นได้จากธนาคารต่าง ๆ ที่หันมาให้ความสำคัญกับ Digital Banking จนมียอดธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และปรับรูปแบบการให้บริการของธนาคารสู่ดิจิทัลเต็มตัว เป็นเหตุให้สายงานธนาคาร มีความต้องการใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านไอที การวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างบริการใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนาระบบ Digital Banking

สายงานโทรคมนาคม ขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 5 ในระดับเจ้าหน้าที่ (Officer Level) ระดับหัวหน้างาน (Supervisor Level) และระดับผู้จัดการ (Manager Level) ไม่ได้มีเพียงแค่องค์กรยักษ์ใหญ่ในสายงานเท่านั้นที่มีสถิติฐานเงินเดือนที่สูงขึ้น แต่ยังรวมถึงองค์กรขนาดกลางและเล็กที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น และมองหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไอทีมาช่วยพัฒนารากฐานระบบต่าง ๆ ขององค์กรเพื่อให้พร้อมต่อการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีในภาคเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ที่สร้างปรากฏการณ์นิวนอร์มอล (New Normal) ทำให้หลายองค์กรต้องหันมาปรับตัวพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ มากขึ้นอีกด้วย