เหล่าพ่อค้า/แม่ค้าออนไลน์ เตรียมตัวให้พร้อม ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ ต้องแจ้งให้ทราบ
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าด้วยเรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ....
ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้ "บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล" หมายความว่า การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์
2. กำหนดให้ "ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล" หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่กระทำการในเชิงพาณิชย์หรือวิชาชีพหรือนิติบุคคลที่เสนอสินค้า บริการ หรือทรัพย์สินต่อผู้บริโภคผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจ งานฝีมือ หรือวิชาชีพ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือผู้บริโภคจะเป็นสมาชิก หรือมีบัญชีของแพลตฟอร์มนั้นหรือไม่ นอกจากนี้ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหนึ่งอาจมีผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่าหนึ่งฝ่ายก็ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
3. กำหนดให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบตามพระราชกฤษฎีกานี้
4. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานี้และประกาศที่คณะกรรมการหรือสำนักงานกำหนด
5. กำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นบริการที่ต้องแจ้งให้ สพธอ. ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ โดยยื่นแบบการแจ้งให้ทราบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ยกเว้นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีหน่วยงานอื่นกำกับดูแลโดยเฉพาะอยู่แล้ว และบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด ไม่ต้องแจ้งให้ สพธอ. ทราบ
6. กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับแก่การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคในราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่นอกราชอาณาจักรต้องแต่งตั้งตัวแทนของผู้ประกอบธุรกิจเป็นหนังสือซึ่งตัวแทนต้องอยู่ในราชอาณาจักรและตัวแทนต้องได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่มีข้อจำกัดความรับผิดใดๆ ที่เกี่ยวกับการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามพระราชกฤษฎีกานี้
7. กำหนดให้เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบการแจ้งให้ทราบพร้อมทั้งเอกสารแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับแจ้งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งในวันที่รับแจ้งนั้น และให้ผู้แจ้งประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้ตั้งแต่วันที่ได้รับใบแจ้งดังกล่าว
ในกรณีที่พบว่าการแจ้งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหรือครบถ้วน แล้วแต่กรณี ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่แก้ไขหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นหยุดการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องและครบถ้วนตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่
ในกรณีที่ผู้แจ้งไม่แก้ไขภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่หยุดการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการรับแจ้งของผู้นั้นออกจากทะเบียนการรับแจ้งและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นทราบโดยเร็ว
8. กำหนดให้กรณีที่หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดมีความจำเป็นต้องขอข้อมูลที่ สพธอ. ได้รับจากแบบการแจ้งให้ทราบหรือจากทะเบียนการรับแจ้ง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ สพธอ. ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นรายกรณีไป
9. กำหนดให้กรณีที่ สพธอ. จำเป็นต้องใช้ข้อมูลซึ่งหน่วยงานของรัฐใดได้มีการขอหรือจัดเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไว้แล้วไม่ว่าตามกฎหมายหรือตามข้อสัญญา ให้ สพธอ. สามารถขอให้หน่วยงานดังกล่าวให้เปิดเผยหรือเชื่อมโยงข้อมูลนั้นแก่ สพธอ. ได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลที่ตนมีให้แก่ สพธอ. โดยไม่ชักช้า
10. กำหนดให้ สธพอ. มีอำนาจประกาศกำหนดลักษณะหรือประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทราบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่จำเป็นอย่างชัดเจนและเหมาะสมก่อนหรือขณะการใช้บริการ เช่น เงื่อนไขในการให้บริการ การระงับหรือหยุดการให้บริการ การคิดค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทน ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการให้บริการ เป็นต้น
11. กำหนดให้กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้แจ้ง สพธอ. ทราบล่วงหน้าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ไม่น้อยกว่า 60 วันก่อนวันเลิกการให้บริการ และให้ สพธอ. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลก่อนเลิกประกอบธุรกิจหรือก่อนเพิกถอนการแจ้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่สำนักงานประกาศกำหนด
12. กำหนดให้กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานี้และตามประกาศที่คณะกรรมการฯ และ สพธอ. กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งห้ามมิให้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการรับแจ้งของผู้นั้นออกจากทะเบียนการรับแจ้งและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นทราบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว
13. กำหนดให้ สพธอ. มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม ซึ่งอาจครอบคลุมเรื่องการระบุและพิสูจน์ทราบตัวตนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีและเป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล และหรือหน่วยงานของรัฐ
14. กำหนดให้ สพธอ. จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก โดยให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการฯ ทุกปี
15. กำหนดให้ สพธอ. และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ร่วมมือกันกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีพฤติกรรมขัดขวางความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า
16. กำหนดให้ผู้ซึ่งประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามพระราชกฤษฎีกานี้ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอว่า
1. โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 32 บัญญัติให้บุคคลย่อมมีสิทธิประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบต้องขึ้นทะเบียน หรือต้องได้รับใบอนุญาตก่อน แล้วแต่กรณี
2. ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของสาธารณชน อีกทั้งยังตอบสนองต่อรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกันทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมากขึ้น ครอบคลุมลักษณะและประเภทธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มการขายสินค้าหรือบริการ (เช่น Shopee และ Booking.com) แพลตฟอร์มเศรษฐกิจแบ่งปันด้านแรงงาน (เช่น Grab Food และ Robinhood) แพลตฟอร์มการให้บริการด้านการเงิน (เช่น truemoney wallet และ rabbit LINE Pay) แพลตฟอร์มการให้บริการที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต (เช่น HUNGRY HUB และ QUEQ) จึงทำให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น
ดังนั้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จึงมีความจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยการกำหนดขอบเขตของการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ การเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นไปด้วยความเหมาะสม การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้การประกอบธุรกิจดังกล่าวมีความโปร่งใสและเป็นธรรม อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการให้บริการ มีการคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งรวมถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเหมาะสม ตลอดจนกำหนดให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่ดี หรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ กลไกการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบัน และการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้บริโภค ในกรณีที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่นอกราชอาณาจักร
ทั้งนี้ เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน ดศ. จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ....
3. ดศ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 32 วรรคสี่
ดศ. ได้นำข้อมูลที่ได้รับจากการรับฟังความคิดเห็นมาปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และได้นำร่างพระราชกฤษฎีกาฯ เสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ซึ่งที่ประชุม คธอ. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาฯ โดยให้ สพธอ. นำความเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
โดย สธพอ. ได้ดำเนินการปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการดำเนินการภายหลังที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ คธอ. หรือ สพธอ. จะได้จัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนจัดให้มีกระบวนการสร้างการรับรู้และความรู้ความเข้าใจในการนำร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ไปใช้บังคับต่อไป
ร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ