"มะเร็งในระบบสืบพันธุ์สตรี" ส่วนใหญ่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกร่างกาย ดังนั้นการค้นหาหรือคัดกรองมะเร็งในกลุ่มนี้จึงมีความจำเป็นต้องตรวจหารอยโรคด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี รู้ก่อน รักษาไว มีโอกาสหาย และสามารถป้องกันได้
จากสถิติล่าสุดที่เปิดเผยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันมะเร็งโลก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทยจัดเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 140,000 คน และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 80,000 คนต่อปี
โรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
พญ.สุขุมาลย์ สว่างวารี สูตินรีแพทย์ และมะเร็งนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลเจ้าพระยา ระบุว่า หากกล่าวถึงโรคมะเร็งในระบบสืบพันธุ์สตรีแล้วนั้น โรคที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกจากสถิติล่าสุดของ IARC ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 พบสถิติผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ของไทยปีละ 9,158 ราย และอัตราการเสียชีวิต 4,705 รายต่อปี โดยโรคมะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีหลายโรคกว่าจะตรวจพบหรือรอให้มีอาการนั้น บางรายอาจมีการกระจายของโรคไปแล้ว โอกาสการรักษาให้หายขาดจึงทำได้ยาก
รู้ก่อน
เนื่องจากอวัยวะสืบพันธุ์สตรีมีทั้งส่วนที่มองเห็นได้จากภายนอกร่างกายและส่วนที่อยู่ลึกเข้าไปในอุ้งเชิงกราน หากคำนึงถึงสถิติโรคมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่พบบ่อย มักเป็นตำแหน่งอวัยวะที่อยู่ลึกเข้าไปในร่างกายที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก โดยเฉพาะปากมดลูกจะอยู่ลึกเข้าไปด้านในสุดของช่องคลอด ส่วนมะเร็งรังไข่และมดลูก อยู่ในอุ้งเชิงกรานไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกร่างกาย ดังนั้นการค้นหาหรือคัดกรองมะเร็งในกลุ่มนี้จึงมีความจำเป็นต้องตรวจหารอยโรคด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี และตรวจพิเศษเพิ่มเติมก่อนที่รอยโรคจะก่ออาการ จะทำให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งระยะต้นของระบบสืบพันธุ์สตรีได้
รักษาไว
การรักษาโรคมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี หากตรวจพบตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง (preinvasive disease) สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที ก่อนการกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลาม แต่หากกรณีกลายเป็นมะเร็งระยะลุกลามแล้ว การรักษาหลักในปัจจุบันมักเป็นการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง การใช้ยาพุ่งเป้า (Targeted therapy) ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคมะเร็งนั้นๆ
มีโอกาสหาย
มะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี กรณีเป็นระยะก่อนมะเร็ง ได้แก่ รอยโรคก่อนเป็นมะเร็งของมะเร็งปากมดลูก การรักษาในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาด และไม่กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตได้ นอกจากนี้ มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะต้น ผลการรักษาด้วยการผ่าตัด เคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า และ/หรือ รังสีรักษา ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากมีโอกาสหายขาดจากโรคได้
มะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีสามารถป้องกันได้
1. มะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เอชพีวี (HPV vaccine) , การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อเอชพีวี และ/หรือ การตรวจทางเซลล์วิทยา สามารถตรวจรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งและรักษา ป้องกันไม่ให้กลายเป็นมะเร็งได้
2. มะเร็งรังไข่ สามารถป้องกันได้โดยเฉพาะกรณีผู้ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็ง เช่น BRCA mutation เป็นต้น ก็ทำการตรวจคัดกรอง หรือผ่าตัดชนิด risk reduction surgery เพื่อลดโอกาสการกลายเป็นมะเร็งได้ รวมถึงการตรวจภายในประจำปี อัลตราซาวนด์หาความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เป็นต้น
คุณภาพชีวิตดี
เทคโนโลยีการรักษามะเร็งในระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรีในปัจจุบัน มีการรักษาแบบอนุรักษ์ (Conservative surgery) โดยเฉพาะโรคมะเร็งระยะต้นๆ ที่ทำการผ่าตัดเฉพาะอวัยวะที่ผิดปกติและรับเคมีบำบัดเพิ่มเติม ทำให้ผู้ป่วยสามารถยังเก็บรักษาอวัยวะสืบพันธุ์บางส่วนได้ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ บางรายสามารถมีบุตรหลังการรักษามะเร็งหายได้
นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการผ่าตัดผ่านกล้อง ไปจนถึงการผ่าตัดผ่านหุ่นยนต์ (Robotic surgery) ที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชได้หลายชนิด ทำให้ผู้ป่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด แผลขนาดเล็ก ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดลดลง ระยะเวลาพักฟื้นสั้น สามารถกลับไปทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ดังนั้น ด้วยเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็ง วัคซีนป้องกันมะเร็ง การรักษาอย่างครบวงจร การรักษามะเร็งในรูปแบบใหม่ๆ การผ่าตัดผ่านกล้อง ยาเคมี ยาพุ่งเป้าเพื่อรักษามะเร็งตัวใหม่ๆ ทำให้สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ห่างไกลมะเร็งได้ และความเป็นผู้หญิงกลับคืนมาได้ในผู้ป่วยมะเร็งระบบอวัยวะสืบพันธุ์สตรี