ไทยกำลังเจอกับการระบาดโควิด19 สายพันธุ์อังกฤษ และเกิดเสียงบ่นตามๆกันมาถึงการเข้าถึงยากมากในการรักษาในไทย ทั้งการไม่ได้เตียง การตรวจที่เข้าถึงได้ยาก และการบังคับให้ทุกคนที่เจอโควิด19 ต้องพักที่ ร.พ. แต่ขณะเดียวกัน หากจะถอดบทเรียนเรื่องขั้นตอนการรักษาจากที่สหราชอาณาจักรแล้ว อาจจะเป็นสิ่งที่แตกต่างกัน เพราะสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ UK เดินแผนงานเชิงรุก ทั้งการระดมฉีดวัคซีน แต่ในเวลาเดียวกันก็ระบุว่า สามารถกักตัวอยู่บ้านได้หากอาการไม่มาก , มีบริการส่งชุดตรวจมาให้ถึงบ้าน , มีอาสาสมัครซื้อของ-ส่งยารักษาโรคให้กับผู้ป่วย จนกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่ำลงมาก ตั้งแต่เข้าปี 2021 เป็นต้นมา
สหราชอาณาจักรนั้น มีสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) หน่วยงานของรัฐคือตัวหลักในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน ในช่วงยามที่โควิด19 ระบาด ตั้งแต่ต้นปี 2020
โดย โรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่ทางเลือกที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ด้วยจำนวนเตียงในโรงพยาบาลของรัฐ และทรัพยากรทางการแพทย์ที่ไม่สามารถรองรับผู้ติดเชื้อนับแสนนับล้านได้ เพราะในช่วงที่พีกที่สุด สหราชอาณาจักร เคยมี รายสัปดาห์เกือบ 6 หมื่นคน ทำให้ สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ NHS ออกแนวปฏิบัติตั้งแต่การระบาดครั้งแรก
โดยระบุว่า คนที่มีอาการโควิด หรือ สงสัยว่าตัวเองเป็นให้กักตัวเอง 14 วันนับแต่วันที่เริ่มมีอาการ แต่ถ้าไม่มีอาการให้กักตัวตั้งแต่วันเก็บตัวอย่างเชื้อ
ทั้งนี้ ในสหราชอาณาจักร การเข้าถึงการตรวจหาเชื้อ เข้าถึงง่ายมาก มีหลากหลายช่องทาง ใครอยากขับรถไปตรวจที่จุดบริการ ก็ไป หากคนไม่สะดวกก็ไปลงทะเบียนออนไลน์ให้เขาส่งชุดตรวจมาให้ที่บ้าน
ถ้าคนในบ้านเป็นอยู่แล้ว ต้องกักตัว ก็โทรให้คนมารับได้ วิธีเก็บตัวอย่าง ...ก็มีคลิปวิดีโอให้ดู ใครอยู่ตัวคนเดียวและต้องกักตัว ออกไปไหนไม่ได้ ก็มีช่องทางให้อาสาสมัครซื้อของ-ส่งยารักษาโรคให้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในช่วงที่ สหราชอาณาจักร คลายการล็อกดาวน์ระยะ 3 แล้วในช่วงกลางเดือนเมษายน เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงต่ำมากอย่างมีนัยยะสำคัญแล้ว เรื่องนี้เป็นผลมาจากรัฐบาลภายใต้การนำของบอริส จอห์นสัน แจกฟรีชุดตรวจหาเชื้อแบบทันที (lateral flow test kit) ให้ประชาชนทั่วอังกฤษ และในช่วงต้นเดือนมี.ค ก็เดินเกมออกนโยบายให้ให้นักเรียนทั่วประเทศใช้ชุดตรวจนี้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ตรวจตัวเอง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ติดโควิด
รัฐบาลอังกฤษ ระบุว่า ค่าใช้จ่ายของโครงการทดสอบหาเชื้อและติดตามผู้ติดเชื้อ (Test and Trace) นี้สูงถึง 3.7 หมื่นล้านปอนด์ หรือ 1.48 ล้านล้านบาท ซึ่ง 80% ของงบนี้จะหมดไปกับการตรวจหาเชื้อโควิด
หากย้อนไปในช่วงสิงหาคมปีที่แล้ว สหราชอาณาจักร ใช้ชุดตรวจเร็วโดยใช้สารคัดหลั่ง (rapid swab test) และเครื่องตรวจดีเอ็นเอ ในการตรวจหาเชื้อโควิด19 ซึ่งจะรู้ผลตรวจภายใน 90 นาที ซึ่งถือเป็นการทำงานเชิงรุกมาก เพราะการตรวจแบบนี้ จะ จะช่วยแยกแยะผู้ติดเชื้อโรคโควิด19 ออกจากโรคประจำฤดูกาลอื่นๆ
จากความทุ่มเทของทางการอังกฤษ นั่นส่งผลให้ประชาชน ทั่วไปเดินไปขอรับฟรีได้จากศูนย์ตรวจโควิด หรือ ร้านขายยาที่ร่วมโครงการใกล้บ้าน หรือ ลงทะเบียนทางเว็บไซต์เพื่อให้ส่งมาทางไปรษณีย์ ได้เลย
อีกทั้งในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา “บอริส จอห์นสัน” ยังเร่งผลักดันนโยบาย ประชาชนทุกคนจะสามารถเข้าตรวจโควิด19 ได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเป็นการคอยติดตามการระบาดของโรคโควิด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย โดยสิ่งนี้จะช่วยให้สามารถยับยั้งการแพร่ระบาด รวมถึงสามารถตรวจเจอผู้ติดเชื้อโรคที่ไม่แสดงอาการได้อีกทาง
ในช่วงเวลานี้ที่ไทยกำลังเจอปัญหาเรื่องการจัดการ ทั้งวัคซีน และการเตียงคนไข้ , สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรค่อนข้างใกล้เคียงกับไทย ก็น่าจะเป็น "บทเรียน" กันได้ โดยในช่วงที่ UK วิกฤตนั้นเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2020
โดย สหราชอาณาจักรที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทย และจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตสูงมากจนเทียบกันไม่ได้ กว่าครึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป
โดยสัปดาห์สุดท้ายของปี 2020 และสัปดาห์แรกของ 2021 คือช่วงวิกฤตสุดของสหราชอาณาจักร จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวัน ทำสถิติสูงสุด อยู่ที่ 81,531 คน ส่วนตัวเลขคนตาย รายวัน พุ่งไปสูงสุดที่ 1,361 คน
แต่กราฟหลังจากนั้น มียอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะรัฐบาลอังกฤษ ระดมฉีดวัคซีนแบบเป็นแผนเร่งด่วน สหราชอาณาจักรมีจำนวนผู้ติดเชื้อรวม 4,373,343 คน ตายอย่างน้อย 127,100 คน ส่วนจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรกจนถึง ณ เวลานี้ อยู่ที่มากกว่า 33 ล้านคนแล้ว จากจำนวนประชากรราว 66.8 ล้านคน นั่นหมายความว่า มีประชาชนราวๆ 50% ของทั้งประเทศได้วัคซีนแล้ว
ทางการสหราชอาณาจักร กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนก่อนที่จะคลายล็อกดาวน์ในขั้นต่อไปคือ...
• การดำเนินการให้วัคซีนเป็นไปตามแผน
• มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าวัคซีนสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิต และที่ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
•อัตราการติดเชื้อลดลง ไม่เป็นภาระหนักของโรงพยาบาลในการรับผู้ป่วยใน
•เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ไม่ส่งผลกระทบให้เกิดความเสี่ยง
หากมองภาพให้ชัดเจนในการเข้าถึงการรักษาโควิด19ที่อังกฤษนั้น จากกรณี “หมู ปากน้ำ” นพพล แสงคำ นักสนุกเกอร์ที่อาศัยอยู่ที่อังกฤษ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี โดยในช่วงที่ "หมู ปากน้ำ" เป็นโควิด19 แต่อาการไม่มากนั้น เขากักตัวเองอยู่ที่ห้องพัก ไม่ได้แอดมิดที่ ร.พ. เลย เพราะมีอาการไม่มาก และหมู ปากน้ำ ใช้ชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด19 ที่สามารถไปซื้อเองได้ตามศูนย์สรรพสินค้า และเมื่ออาการของเขาดีขึ้นตามลำดับ เขาจึงค่อยไปตรวจ กับทางกระทรวงสาธารณสุขของประเทศอังกฤษอีกครั้ง เพื่อยืนยันผลที่เป็นทางการ
• คนรักหมาเฝ้าระวัง!เผยงานวิจัยพบโควิดสายพันธุ์อังกฤษอาจมีสุนัขเป็นต้นตอ
• ถอดบทเรียนโควิด19ระบาดในอังกฤษ วัคซีนคือเป็นกุญแจสำคัญแก้ปัญหา
• สปป.ลาวลุยฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย85% แล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดต่ำ