เรือสินค้าขวางคลองซูเอซ ทำพิษเส้นทางการค้ายุโรป-เอเชีย หยุดชะงัก และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ที่จะทำให้การเดินเรือผ่านคลองกลับมาได้เหมือนเดิม
คลองสุเอซอยู่ที่ประเทศอียิปต์ เป็นคลองที่ขุดโดยฝีมือมนุษย์ เพื่อเชื่อมเส้นทางเดินเรือระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรอินเดีย เปิดใช้งานครั้งแรกในปี 1869 มีความกว้าง 91.44 เมตร ยาว 193.3 กิโลเมตร ใช้เวลาขุดนาน 10 ปี นับแต่เปิดใช้งาน คลองสุเอซก็กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศอียิปต์มาโดยตลอด จากการตัดเส้นทางผ่านแผ่นดินอียิปต์โดยตรง เรือสินค้าที่ต้องการเดินทางจากเอเชียใต้ไปจนถึงยุโรป จากเดิมที่ต้องอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮปของแอฟริกาใต้อีก 7,000 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้เวลาขนส่งสินค้าเพิ่มเกือบสองสัปดาห์ และแต่ผ่านคลองสุเอซใช้เวลาแค่สองวัน
ทั้งนี้ วันอังคารที่ 23 มีนาคม เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ Ever Given เกยขวางคลองสุเอซในอียิปต์ หลังเดินทางออกจากท่าเรือในจีนและกำลังมุ่งหน้าสู่เนเธอร์แลนด์ โดยองค์การคลองสุเอซ (SCA) ระบุถึงสาเหตุของการขวางคลองของ Ever Given ซึ่งมีขนาดยาว 400 เมตร กว้าง59 เมตร หนัก 2.2 แสนตัน เกิดขึ้นเพราะพายุทรายที่มีความเร็วลมมากกว่า 40 น็อต (ประมาณ 74 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และทำให้วิสัยทัศน์การมองเห็นต่ำ จนในที่สุดเรือก็สูญเสียการควบคุม หัวเรือเกยเข้ากับฝั่งบริเวณกิโลเมตรที่ 151 โดยมีตัวลำเรือกีดขวางเส้นทางของคลองสุเอซโดยสมบูรณ์ ส่วนลูกเรือทั้งหมด 25 คนยังอยู่บนเรือและปลอดภัยดี ส่วนตัวเรือยังไม่มีความเสียหาย
การกู้เรือ Ever Given เป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากมีความยาวกว่า 400 เมตร กว้าง 60 เมตร เฉพาะตัวเรือก็มีน้ำหนักถึง 220,940 ตัน สื่อหลายแห่งระบุให้เห็นภาพอันใหญ่โตของ Ever Given ให้ชัดเจนว่ามันมีความยาวพอๆ กับความสูงของตึกเอ็มไพร์สเตท โดยเว็บไซต์ข่าวชิปปิ้งรายงานการขนส่งทางเรือ Lloyd’s List รายงานว่า โดยรวมแล้วการขนส่งที่หยุดชะงักอาจสร้างความเสียหายราว 9.6 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน และสถานการณ์ปัจจุบัน ภาพถ่ายทางดาวเทียม พบการจราจรทางเรือแออัด เรือ 160 ลำมีเรือน้ำมัน และเรือสินค้ากำลังรอผ่านคลองอีก 300 ลำ ในช่วงเวลาที่มีปัญหา โดย 12 % การขนส่งสินค้าทั่วโลก ผ่านคลองสุเอซ 30 % ของตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก คลองคือเส้นทางลัด ทางด่วนเชื่อมการขนส่งเอเชีย และ ยุโรปเข้าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า อาหาร และพลังงาน หากการกู้ล่าช้าต่อไปเรื่อยๆ