เมียนมา สลายชุมนุมนองเลือด วันเดียวสังเวย18 ศพ โซเชียลแฉ เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงยิงสลายม็อบ
วันที่ 28 ก.พ. 2564 กองกำลังความมั่นคงเมียนมาเปิดฉากยิงและทำการจับกุมจำนวนมาก ขณะที่พยายามสลายการประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร โดยเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติบอกว่ามี"ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ" ที่ชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย และบาดเจ็บ 30 คนนั่นถือเป็นยอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในวันเดียวในหมู่ผู้ประท้วงที่เรียกร้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซานซูจีกลับคืนสู่อำนาจหลังจากถูกรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และเชื่อกันว่าประชาชนราว 1,000 คนถูกควบคุมตัวในวันอาทิตย์
มีรายงานการยิงปืนแทบจะทันทีที่การประท้วงเริ่มขึ้นในเช้าวันอาทิตย์ในย่างกุ้ง ขณะที่ตำรวจยังยิงแก๊สน้ำตาและปืนฉีดน้ำ ขณะพยายามเคลียร์ถนน มีการโพสต์ภาพถ่ายปลอกกระสุนจากกระสุนจริงที่ใช้ในปืนไรเฟิลจู่โจมบนโซเชียลมีเดีย
สำนักงานสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุในแถลงการณ์ว่า "มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตที่เกิดจากกระสุนจริงที่ยิงใส่ฝูงชนในย่างกุ้ง ทวาย มัณฑะเลย์ มะริด พะโค และโปค็อกกู" พร้อมกับเสริมว่ากองกำลังยังใช้แก๊สน้ำตา ระเบิดแสง และระเบิดเสียงที่ทำให้ตกใจด้วย
สเตฟาน ดูจาร์ริค โฆษกของสหประชาชาติเปิดเผยว่า นายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิ การสหประชาชาติประณามการปราบปรามอย่างรุนแรง โดยระบุว่าการใช้กำลังต่อผู้ประท้วงอย่างสันติและการจับกุมตามอำเภอใจ เป็นสิ่งที่ "ไม่สามารถยอมรับได้" และแสดงความกังวลอย่างจริงจังต่อการเพิ่มขึ้นของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส เลขาธิการเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ รวมตัวกันและส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังกองทัพ ว่าจะต้องเคารพเจตจำนงของประชาชนเมียนมา ตามที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งและหยุดการปราบปราม
นักข่าวของเอพี ก็ถูกตำรวจควบคุมตัวเมื่อเช้าวันเสาร์ขณะทำข่าวการประท้วง ปัจจุบันนาย เต็ง ซอ ยังคงอยู่ในความดูแลของตำรวจ ขณะที่เอพี ก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาทันที โดยบอกว่า "นักข่าวอิสระต้องได้รับอนุญาตให้รายงานข่าวได้อย่างอิสระและปลอดภัย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกแก้แค้น" ขณะที่ชมรมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของเมียนมายังประณามการจับกุมดังกล่าวด้วย
ทางด้าน Democratic Voice of Burma บริษัทสื่ออิสระ ที่ออกอากาศผ่านดาวเทียมและโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล รวมทั้งทางออนไลน์ รายงานว่าเมื่อเวลา 17.00 น. ในเมียนมามีผู้เสียชีวิตที่ยืนยันแล้ว 19 ราย ใน 9 เมือง และมีผู้เสียชีวิตอีก 10 รายที่ยังไม่ยืนยัน โดย DVB ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 5 รายในย่างกุ้ง และ 2 รายในมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและเมืองใหญ่อันดับสอง
นอกจากนั้น ก็มีผู้เสียชีวิต 5 รายในทวายซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา ที่มีผู้ประท้วงหลายหมื่นคนเกือบทุกวันนับตั้งแต่การรัฐประหาร ผู้เห็นเหตุ การณ์บอกว่าการเดินขบวนในวันอาทิตย์ก็มีมากเช่นกันและผู้คนก็ตั้งใจที่จะไม่ยอมถูกขับไล่ออกไปจากท้องถนน
แต่การยืนยันการเสียชีวิตของผู้ประท้วงเป็นเรื่องยาก ท่ามกลางความโกลาหลและการขาดแคลนข้อมูลจากแหล่งข่าวอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกย่างกุ้ง มัณ ฑะเลย์ และเมืองหลวงเนปิดอว์ แต่ในหลายกรณี ภาพถ่ายและวิดีโอที่เผยแพร่ออกไป ก็แสดงให้เห็นสถานการณ์ของการสังหาร
สมาคมความช่วยเหลืออิสระนักโทษการเมือง รายงานว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวประมาณ 1,000 คนในวันอาทิตย์ พวกเขาสามารถระบุตัวตนได้ 270 คน ทำให้จำนวนคนทั้งหมดที่กลุ่มนี้ยืนยันว่าถูกจับกุม ถูกตั้งข้อหาหรือถูกตัดสินจำคุกนับตั้งแต่เริ่มการรัฐประหารอยู่ที่ 1,132 คน .ก่อนวันอาทิตย์ มีรายงานการเสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว 8 ราย ที่เชื่อมโยงกับการยึดอำนาจของกองทัพ จากข้อมูลของสมาคม