บัตรเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา โซเชียลมีเดีย ตั้งข้อสงสัยทำไมถึงไม่มีชื่อพรรค หรือ โลโก้ผู้สมัคร หลายคนต้องท่องจำ เพื่อไม่ให้กากบาทผิด หลายคนพลาดกาผิด คะแนนตกน้ำหล่นหาย หรือ กลายเป็นบัตรเสีย เรียกร้องข้อรายละเอียดที่ป้องกันการสับสนให้กับประชาชน
ปรากฏการณ์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เห็นความตื่นตัวของประชาชนในการออกไปใช้ 1 สิทธิ 1 เสียงเลือกผู้แทนเข้ามาบริหารเมืองหลวงแห่งนี้ ด้วยความหวัง
ผลการนับคะแนนออกมาอย่างไม่เป็นทางการ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครเบอร์ 8 ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น เอกฉันท์ แลนสไลด์จนไร้ข้อกังหา
แต่หลายๆ เสียงบนโลกออนไลน์ ได้มีการทักท้วงและตั้งข้อสังเกตกับบัตรเลือกตั้งในรอบนี้ กันไม่น้อย เพราะนอกจาก พรรคที่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ และสก. จะมีคนละเบอร์กัน จนต้องขมวดคิ้วหาเหตุผล ทั้งยังต้องมาเจอกับบัตรเลือกตั้งที่หน้าตามินิมอล มีแค่ชื่อประเภทหัวบัตร และเลขกับช่องกากบาท ที่ไม่มีทั้งโลโก้พรรคหรือชื่อพรรคที่จะช่วยลดความสับสนให้กับผู้สูงอายุ หรือ แม้แต่คนหนุ่มสาวที่เข้าคูหาครั้งแรก ก็อาจจะเผลอกากบาทเบอร์บัตรผิดประเภท จนทำให้กลายเป็นบัตรเสีย คะแนนเสียงที่นานทีจะได้มีโอกาสใช้หล่นหายไปอย่างน่าเสียดาย
หลักการเลือกตั้ง ควรทำให้ปชชใช้สิทธิได้ง่ายที่สุด+มากที่สุดตามเจตนารมณ์ของเขา: ไม่ควรนับบัตรเสียจากเรื่องหยุมหยิม เช่น ใช้ปากกาสีอะไร กากบาทเกินช่อง ใช้เครื่องหมายอื่นนอกจากกากบาท และครั้งหน้าควรใส่ชื่อผู้สมัครในบัตร+ให้เลือกตั้งล่วงหน้า+เลือกตั้งนอกเขตได้ #เลือกตั้งผู้ว่ากทม65
— prajak kong (@bkksnow) May 22, 2022
สก. บัตรเสียเยอะกว่า เพราะคนกาผิดใบ #เลือกตั้งผู้ว่ากทม65
— Jesada Taksin (@JesTaksino) May 22, 2022
จากสถิติ ข้อมูลการเลือกตั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้พบว่า มีบัตรเสีย จำนวน 40,017 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.50 จำนวนสี่หมื่นเสียงนี้แม้ไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด แต่ก็อาจจะทำให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นที่สองและสามปรับเปลี่ยนอันดับได้เลยเช่นกัน
พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประธานการประชุมศูนย์รักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ได้เปิดเผยรายงานการกระทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง พบว่า 3 ใน 5 กรณี เกิดจากการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำตัวเลขผู้สมัครไม่ได้
โดยเลือกตั้งทั่วประเทศก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2561 สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจกรณีข้อเสนอให้มีการตัดโลโก้ และชื่อพรรคการเมืองออกจากบัตรเลือกตั้ง และให้เป็นแบบมีแต่เบอร์เท่านั้น พบว่า
ข้อมูลจาก iLaw อ้างอิงจากข้อมูลทางวิชาการ ระบุว่า บัตรเลือกตั้งมีส่วนในการประกอบการตัดสินใจของประชาชน เช่น ภาพของผู้สมัครจะเป็นประโยชน์ให้ผู้กับที่ไม่สามารถอ่านหนังสือ ส่วนชื่อพรรคและข้อมูลเพิ่มเติมจะทำให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดมากขึ้น ทั้งนี้หลายๆ ประเทศรวมทั้งเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศอินโดนีเซีย ก็เริ่มปรับให้มีรูปถ่าย โลโก้และชื่อพรรคการเมืองของผู้สมัครใส่เพิ่มเติมเพื่อช่วยลดความผิดพลาดในการลงคะแนนเสียงให้ประชาชน
ทั้งนี้ในประกาศแถลงการณ์ ประชาสัมพันธ์ สีบัตรเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ชี้แจงเพียงแค่การแยกสีบัตรและขนาดแต่ละประเภทการลงคะแนนเสียงเพื่อกันประชาชนสับสน แบ่งออกเป็น
ในการ "เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม." วันที่ 22 พ.ค. 2565 ได้ที่ผ่านมามีรายงานว่าบางหน่วยเลือกตั้ง พบปัญหาประชาชนสับสน "สีบัตรเลือกตั้ง" อีกทั้งยังพบการลงคะแนนผิดพลาดอยู่บางส่วน เช่น กาหลายเบอร์, กาผิดช่อง, ขีดฆ่า, กาผิดสีบัตร, กาหลายช่อง ฯลฯ ถึงแม้จะมีการย้ำเตือนให้ทำความเข้าใจก่อนเดินเข้าคูหากากบาท และปัญหาเช่นนี้สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ไม่ใช่หรือ
โดยการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ก็เคยมีการท้วงติงจนต้องออกมาชี้แจงไว้เมื่อวันที่ วันที่ 10 ธ.ค. นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า แนวคิดการให้บัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อและสัญลักษณ์พรรค การเมืองมาจากการข้อหารือความกังวลกรณีการใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่กำหนดไว้ 4- 16 ก.พ.62 เนื่องจากบัตรเลือกตั้งที่มีลักษณะเฉพาะเขต หากการขนส่งผิดพลาดไม่ถึงผู้ลงคะแนน จะไม่สามารถจัดส่งบัตรใบใหม่ไปได้ทัน แต่หากเป็นบัตรที่ใช้แบบเดียวกันทุกเขตจะไม่มีปัญหาในส่วนนี้ แต่ด้วยเงื่อนไขและรูปแบบที่แตกต่างกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2565 จึงยังไม่มีการชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติมจาก กกต.
เพื่อประโยชน์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเพิ่มข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับพรรคหรือผู้สมัครให้ชัดเจนมากขึ้นก็อาจจะช่วยลดการกระทำความผิดและจำนวนบัตรเสียลงได้ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่พวกเราประชาชนคนไทยจะได้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนตามกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย ก็อยากฝากให้ กกต. รับเรื่องการออกแบบบัตรเลือกตั้งจากหลายเสียงทั้งโพลและกระแสสังคมหลังจากการเลือกตั้ง กลับไปพิจารณาแก้ไข ปรับปรุง เพื่อลดความสับสน และอำนวยความสะดวกใหักับประชาชน มีสร้างมาตราฐานเดียวกับที่นานาประเทศใช้กันอย่างคงเส้นคงวาในทุกๆ การเลือกตั้ง เพราะทุกคะแนนเสียงมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทุกคน