svasdssvasds

ชัชชาติเสนอแนวคิด “ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง” ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพชีวิต

ชัชชาติเสนอแนวคิด “ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง” ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพชีวิต

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เสนอแนวคิด ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง โดยเริ่มต้นจากการให้บริการพื้นฐานในราคาที่ถูก อาทิ ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ขนส่งมวลชนต่างๆ ค่าบริการของภาครัฐในด้านสุขภาพ การศึกษา แล้วเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ อย่างเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นคนแรกที่ประกาศจะลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และลงพื้นที่ตามชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในวันนี้เขาจึงพยายามออกแบบเครื่องมือเชิงนโยบาย เพื่อทำให้กรุงเทพฯ ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

โดยเมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ชัชชาติก็ได้ไปร่วมพูดคุยใน Town Hall Meeting วงสนทนาว่าด้วยแนวคิด “ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง” ร่วมกับ ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หัวหน้าทีมนโยบายเศรษฐกิจ ของทีมชัชชาติ , ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผอ.วิจัยนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา โดย SpringNews ขอนำแนวคิดการทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง ในแบบฉบับของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มานำเสนอดังต่อไปนี้

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรุงเทพฯ ไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน

ในมุมมองของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เขาเห็นว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่พื้นที่ สิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นเมืองที่มีชีวิต ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดของ Thor ซูเปอร์ฮีโร่พลังเทพเจ้าในจักรวาลของ Marvel ที่กล่าวไว้ใน Thor: Ragnarok ว่า “แอสการ์ดไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นผู้คน”

ในบริบทของ Thor เป็นช่วงที่ดาวแอสการ์ดกำลังจะแตกดับ แต่ในบริบทของชัชชาติ คือการโฟกัสให้ความสำคัญกับคน จึงจำเป็นต้องเข้าใจวิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ ปัญหา เพื่อจะได้ตองสนองความต้องการได้อย่างถูกจุดและถูกต้อง

“เมืองคือคน ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง ถ้าคนอยู่ไม่ได้ เมืองก็อยู่ไม่ได้ จากที่เราไปทำการสำรวจมา ปัญหาอันดับ 1 ตอนนี้ของกรุงเทพฯ คือเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด

“เมืองคือ Labor Markets (ตลาดแรงงาน) มีผู้คนมาอยู่กันหนาแน่น เพราะต้องเข้ามาหางานทำ ฉะนั้นหัวใจของเมืองคือเศรษฐกิจ เมืองจะขับเคลื่อนได้ด้วยเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้คิดเรื่องนี้อย่างละเอียด ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่หลัก เพราะว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนก็อยู่ไม่ได้

“แล้วอนาคตกรุงเทพฯ จะอยู่รอดได้ ก็ต้องดึงคนเก่งไว้ สร้างคนเก่งให้ได้ เหมือนซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) แต่ถ้าค่าครองชีพยังสูง คุณภาพชีวิตไม่ดี สุดท้ายกรุงเทพฯ ก็อยู่ไม่รอด เพราะฉะนั้นเราต้องทำกรุงเทพฯ ให้มีความหวัง

“และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ คุณภาพการให้บริการของ กทม. เพราะมีทุกกระทรวงของรัฐบาลอยู่ แตะทุกเรื่องในชีวิตของผู้คน ฉะนั้น กทม.ต้องให้บริการที่มีคุณภาพกับประชาชน ซึ่งถ้า กทม. สามารถให้บริการที่มีคุณภาพได้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้อย่างมหาศาล”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

กรุงเทพกับความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำ ถือว่าเป็นอีกปัญหาที่เห็นได้อย่างชัดเจนในกรุงเทพฯ ซึ่งในความคิดของชัชชาติ หากประชาชนเข้าถึงบริการที่ดีมีคุณภาพได้อย่างไม่ทั่วถึง ก็จะยิ่งทำให้ช่วงว่างแห่งความเหลื่อมล้ำห่างออกไปมากขึ้น โดยชัชชาติได้เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนดังนี้

“เส้นเลือดใหญ่ คือ เมกะโปรเจกต์ คนที่มีรายได้เยอะ ก็จะอิงแอบกับเส้นเลือดใหญ่ได้ง่าย เช่น รถไฟฟ้าที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ คนมีเงินก็จะมาซื้อคอนโดอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า ส่วนคนที่มีรายได้น้อยก็ถูกผลักออกไปอยู่รอบนอก หรืออยู่ในซอยลึก ก็ต้องอาศัยเส้นเลือดฝอยในการเดินทาง และถ้าเส้นเลือดฝอยคุณภาพไม่ดี ก็ทำให้เขายิ่งต้องเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำยิ่งกว้างขึ้น

“เช่น โรงพยาบาล ถ้าเส้นเลือดใหญ่คือโรงพยาบาลชั้นดี เส้นเลือดฝอยคือ ศูนย์สาธารณสุข ที่คนมีรายได้น้อยไปใช้บริการ ยิ่งการให้บริการต่างกัน ก็ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำถ่างออกยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นเมื่อมีการลงทุนในเมกะโปรเจกต์ ต้องไม่ลืมดูเส้นเลือดฝอย เพื่อไม่ให้ช่องว่างของคนเมืองยิ่งห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

กรุงเทพฯ กับรถไฟฟ้า

ชัชชาติได้อธิบายว่า การทำให้กรุงเทพฯ ถูกลง ในความหมายของค่าครองชีพ ผ่านการใช้บริการต่างๆ อาทิ ค่าโดยสารขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยได้ยกตัวอย่างรถไฟฟ้า ถ้าสามารถบริหารจัดการให้ราคาถูกลงได้ ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระและลดความเหลื่อมล้ำของคนเมือง

“ผมว่ารถไฟฟ้าก็เป็นค่าใช้จ่ายหลักอย่างหนึ่งของคนเมือง การลดค่าเดินทางจึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ กทม. ผมเชื่อว่าเรื่องที่ใหญ่ที่สุดของผู้ว่าฯ กทม. ก็คือ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งผมคิดว่าเป็นจุดตายของ กทม.เลยนะ คือที่เราเข้าใจว่าหลังปี 2572 รถไฟฟ้าจะกลับมาเป็นของ กทม. รายได้ทั้งหมดจะเป็นของ กทม. ทั้งค่าโดยสารรวมค่าโฆษณา ประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ถ้าค่าโดยสาร 20 บาทนะ

“แต่เรายังไม่รู้ว่า กทม.จ้างเอกชนเดินรถเท่าไหร่ อันนี้ไม่มีใครรู้ เพราะเป็นสัญญาที่ไม่มีใครเห็น หลังจากนี้จึงสำคัญมาก ซึ่ง กทม.สามารถลดค่าเดินทางรถไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ ถ้าหากรู้ว่าจ้างเขาเท่าไหร่ แล้วยังจะมีเงินเหลือไปทำสวัสดิการด้านอื่นๆ ด้วย

“นอกจากนั้น กทม. ก็ต้องพยายามดูแลเรื่องการเดินรถเมล์ให้เพิ่มขึ้น เสริมจุดที่ขาดในราคาที่เหมาะสม ไม่แพง แล้วเชื่อมโยงระบบการเดินทางของคนเมืองให้สะดวก

“เพราะฉะนั้น กทม.ต้องดูแลเรื่องค่าโดยสาร ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักค่าครองชีพของประชาชน แล้วเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว เราต้องติดตามอย่างตาไม่กระพริบ เพราะมันจะส่งผลกับเรา ซึ่งอาจเป็นรายได้ หรือค่าใช้จ่ายที่มหาศาลในอนาคต"

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

เพิ่มโอกาส ลดรายจ่ายค่าครองชีพ = ลดความเหลื่อมล้ำ

ตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ในมุมมองของชัชชาติ ปัญหาที่สำคัญที่สุดของคนกรุง ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นแล้วเขาจึงเห็นว่า จะต้องมีการออกนโยบายให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในทุกระดับอย่างหลากหลายรูปแบบ และอย่างเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางสังคม  

“การจัดเทศกาลเฟสติวัลทุกเดือน ใน 50 ย่านของกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ และเราต้องสร้าง Creative Economy (เศรษฐกิจสร้างสรรค์) ให้กับคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากจบมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้ไปสมัครงานตามบริษัท แต่บางเขาจะสร้างงานขึ้นเอง อย่างวงการอีสปอร์ต (Esports) มีการแคสต์เกม วิจารณ์เกม เป็นต้น

“ฉะนั้น กทม.จะต้องสร้างรูปแบบและระบบที่สนับสนุนแนวทางเหล่านี้ให้กับคนรุ่นใหม่ และคนกรุงเทพฯ รวมถึงเพิ่มโอกาสค้าขาย เพิ่มตลาด เพราะ กทม.มีทรัพยากรคือ พื้นที่สาธารณะอย่างเช่น ถนน เสาร์-อาทิตย์ก็สามารถทำเป็นถนนคนเดินได้ เปิดท้ายขายของ เพราะว่าทรัพยากรเหล่านี้ประชาชนไม่มี กทม.จึงต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรที่มี แชร์ให้กับประชาชน”

ที่มา  Town Hall Meeting วงสนทนาว่าด้วยแนวคิดการ ‘ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง’ 

related