ความคืบหน้า ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจากศาลปกครองกลาง มีคำสั่งจำหน่ายคดี ล่าสุด บีทีเอส ตั้งโต๊ะแถลง เตรียมยื่นอุทธรณ์ ยันมีสิทธิ์ยื่นได้ภายใน 30 วัน ลุ้นต่อวันที่ 15 มีนาคมนี้ ศาลอาญาฯ จะรับไต่สวนคดีที่บีทีเอสยื่นฟ้อง รฟม. หรือไม่ ?
แนวโน้มจะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ สำหรับศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ทางฝั่ง รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้เปิดโต๊ะแถลงเดินหน้าการประมูลฯ
หลังศาลปกครองกลาง มีคำสั่งจำหน่ายคดีที่บีทีเอส ฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จากกรณีเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม ทางฝั่งบีทีเอสก็ได้มีการตั้งโต๊ะแถลง โดย นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษา ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
ซึ่งไฮไลต์สำคัญอยู่ตรงประเด็นที่ว่า แม้ศาลปกครองฯ จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีดังกล่าวแล้ว แต่บีทีเอสก็ยังขยี้ปมการเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินการประมูลว่าไม่ชอบมาพากล
โดยทีมกฎหมายกำลังหารือเพื่อเตรียมยื่นอุทธรณ์ เพราะทางบีทีเอสยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน
ซึ่งคดีฟ้องร้องกรณีการเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีที่มาอย่างไร ? SPRiNG ขออธิบายความเป็นมาให้เข้าใจได้โดยง่าย ดังต่อไปนี้
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว รฟม. ได้ประกาศให้เอกชนที่สนใจ เข้าร่วมซื้อเอกสารการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีเอกชน 10 ราย ซื้อเอกสารดังกล่าว
ต่อมามีเอกชนรายหนึ่ง ได้ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ เปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินใหม่ และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ได้ประกาศเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม ปี 2563
บีทีเอส ซึ่งเป็น 1 ใน 10 เอกชนที่ซื้อเอกสารการประมูล เห็นว่าการประกาศเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประเมินการประมูล ภายหลังการขายเอกสารการประมูลนั้น ไม่เป็นธรรม จึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อช่วงกลางเดือนกันยายน 2563
ต่อมาในวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลปกครองกลาง ก็มีคำสั่งให้ทุเลาการใช้หลักเกณฑ์ใหม่ นั่นหมายความว่า คณะกรรมการการคัดเลือกฯ ต้องใช้หลักเกณฑ์เดิมในการประเมินผู้ชนะการประมูล
รฟม.กับ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงยื่นอุทธรณ์กับศาลปกครองสูงสุด
ที่เป็นคดีความ ก็ว่ากันไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ส่วนการประมูล ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป โดยได้มีการเปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 มีเอกชน 2 กลุ่มใหญ่ เข้าร่วม ได้แก่ กลุ่มของบีอีเอ็ม กับกลุ่มของบีทีเอส
แต่พอใกล้ถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งกำหนดให้เป็นวันเปิดซองประมูล รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ประกาศเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
ด้วยไทม์ไลน์ที่ลงตัวอย่างเหมาะเจาะ โดยเฉพาะการที่กระทรวงการคมนาคม ต้นสังกัดของ รฟม. ทักท้วงการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบีทีเอส เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2563
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการส่งหนังสือยืนยันว่า เห็นชอบถึง 3 ครั้ง ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลุกลามไปยังรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือไม่ ? ศึกรถไฟฟ้าสายสีส้ม สะเทือนการต่อสัมปทานรถไฟสายสีเขียว ?
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 รฟม. กับ คณะกรรมการคัดเลือกก็ประกาศยกเลิกการประมูล โดยไม่รอคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีการเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ รฟม. ได้มีการยื่นอุทธรณ์ไปก่อนหน้านั้น
ต่อมาในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีที่บีทีเอส ยื่นฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กรณีการเปลี่ยนเกณฑ์ประเมินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เนื่องจากได้มีการยกเลิกการประมูลไปแล้ว จึงไม่มีเหตุให้พิจารณาต่อ
ซึ่งตามที่กล่าวไว้ข้างต้น บีทีเอสยังสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน และเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางบีทีเอส ก็ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบผู้ว่าการ รฟม. และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีคดีที่บีทีเอส ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก รฟม. เป็นจำนวนเงิน 5 แสนบาท แต่ที่เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ก็คือกรณีที่บีเอสได้ยื่นฟ้องผู้บริหาร รฟม.และบุคคลที่เกี่ยวข้อง กับการยกเลิกประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564
ในข้อหา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 โดยยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564
ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ในวันที่ 15 มีนาคม ที่กำลังจะถึงนี้ ศาลอาญาฯ จะรับไต่สวนคดีดังกล่าวหรือไม่ ?