ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัลเพื่อสร้างพลังของประชาชน พรรคไทยสร้างไทย ชี้ช่องโหว่กฎหมายธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2 มาตรฐาน ปล่อยบริษัท “เด็กดื้อ” เอาเปรียบผู้บริโภค ในขณะที่บริษัท “เด็กดี” เสียโอกาสในการแข่งขัน
ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ดิจิทัลเพื่อสร้างพลังของประชาชน พรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกรณีที่แฟลตฟอร์มศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลสัญชาติไทยแห่งหนึ่งประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโทเคอร์เรนซีชั่วคราวเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้บริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือจัดบริการอำนวยความสะดวกให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยการจับคู่สัญญา แต่ต่อมาบริษัทดังกล่าวให้บริการผลิตภัณฑ์การลงทุนซึ่งไม่ได้อยู่ในประเภทธุรกิจที่ ก.ล.ต. ให้ทำ แต่ไม่มีการห้ามไม่ให้ทำภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
Zipmex กลับมาเปิดกระดานเทรดแล้ว พร้อมระบุ เพิ่มทุน-เซ็นต์ MOU นักลงทุนใหม่
ก.ล.ต. สั่งชี้แจงด่วน ! กรณี Zipmex ยื่นขอพักชำระหนี้ต่อศาลสิงคโปร์
“เรื่องนี้อาจถือว่าเป็นการออกกฎเกณฑ์แบบ 2 มาตรฐาน เมื่อเทียบกับบริษัทประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้กำกับของ ก.ล.ต. เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งถ้าจะออกผลิตภัณฑ์หรือการบริการใหม่จะต้องขออนุญาตก่อนว่าทำได้หรือทำไม่ได้ โดยจะไม่ปล่อยให้ทำก่อน แล้วพอนำมาซึ่งความเสียหาย ก็ค่อยมาตามแก้กันทีหลังเหมือนกรณีของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวที่นำสินทรัพย์ของลูกค้าไปลงทุนต่อในแพลตฟอร์มกู้ยืมและบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล จนสุดท้ายประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก จนทำให้บริษัทต้องประกาศระงับการถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า”
ดังนั้นกรณีนี้จึงสะท้อนให้เห็นช่องโหว่ทางกฎหมายเนื่องจาก ก.ล.ต. ไม่มีการแก้ไขกฎเกณฑ์หรือกรอบการขออนุญาตเพิ่มเติมให้เท่าทันกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ พ.ศ. 2561 มา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านการปกป้องความเสียหายของนักลงทุน หรือมาตรการด้านการสนับสนุนพัฒนาการให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยให้เติบโต
“ความรู้ความเข้าใจของหน่วยงานกำกับดูแลต่อตัวธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และตลาดโลก คือหัวใจสำคัญที่ทำให้สามารถออกกฎระเบียบได้อย่างถูกทิศทาง จนนำมาซึ่งความปลอดภัยให้กับนักลงทุน ในขณะที่สามารถสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ซึ่งต่างกับการออกกฎเกณฑ์มาเยอะๆ ให้ดูแน่นๆ ไว้ก่อน แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพ จนส่งผลมุมกลับ ทำให้บริษัทที่เปรียบเสมือน “เด็กดื้อ” ยังไงสามารถหาช่องโหว่เพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคและบริษัทอื่นได้อยู่ดี ในขณะที่บริษัทที่เปรียบเสมือน “เด็กดี” กลับต้องลำบากทำตามกฎเกณฑ์มากมายเกินความจำเป็น จนเติบโตช้าและเสียโอกาสการแข่งขันในระดับสากล” ดร.ธรรม์ธีร์ กล่าวทิ้งท้าย