SHORT CUT
"กล่องดำ” (Black Box) พยานปากสำคัญ ในการสืบค้นอุบัติเหตุกับเครื่องบิน หรือ อากาศยานต่างๆ พวกมันทำหน้าที่อะไรบ้าง และมีคุณสมบัติอย่างไร
นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ และเป็นโศกนาฏกรรมส่งท้ายปี 2024 ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นสำหรับกรณีเครื่องบินเจจู แอร์ ที่ประสบเหตุไถลออกนอกรันเวย์ไปชนกับรั้วของท่าอากาศยานนานาชาติมูอัน ที่เกาหลีใต้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 179 ศพ มีผู้รอดชีวิตเป็นลูกเรือ 2 ราย ในวันที่ 29 ธันวาคม ที่ผ่านมา
สิ่งที่ทางการค้นหา เพื่อจะหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ นั่นคือ "กล่องดำ" ซึ่งคำถามสำคัญคือ แล้วเจ้ากล่องดำนี้ คืออะไร ทำไมถึงเป็นจิกซอว์สำคัญทุกครั้ง เวลาเกิดเหตุกับเครื่องบิน หรือ อากาศยานต่างๆ
กล่องดำ คือ “อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน” ที่เครื่องบินทั่วไปจะต้องติดตั้งตามกฎด้านการบิน ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ช่วยจำลองเหตุการณ์ก่อนเกิดอุบัติเหตุ แล้วนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไป
สาเหตุที่กล่องดำจะต้องทาที่ส้มเนื่องจากมีสีที่สะดุดตา ทำให้ง่ายต่อการค้นหาเวลาเกิดเหตุไม่คาดฝัน มักติดตั้งอยู่บริเวณด้านหางท้ายเครื่อง เพราะเป็นบริเวณที่มีความแข็งแรงและมีโอกาสรับความเสียหายน้อยกว่าส่วนอื่น โดยใช้วัสดุอย่างสเตนเลสสตีลหรือไทเทเนียมที่สามารถทนต่อแรงกระแทก ความร้อน และน้ำ
ทั้งนี้ เมื่อเกิดอุบัติเหตุทางเครื่องบิน 2 สิ่งแรกที่หน่วยกู้ภัยต้องรีบค้นหาคือ "ผู้รอดชีวิต" และ "อุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบิน" ซึ่งเครื่องบินทุกประเภทจะต้องปฏิบัติตามกฎการบินในการติดตั้ง "กล่องดำ" สำหรับบันทึกข้อมูลการบิน
สำหรับอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการบินนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. Cockpit Voice Recorder (CVR) ทำหน้าที่บันทึกเสียงทั้งหมดในห้องนักบิน
ใช้บันทึกข้อมูล อาทิ การสนทนาของนักบิน เสียงเครื่องยนต์ และเสียงสัญญาณเตือน สามารถบันทึกเสียงได้ประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนที่จะเริ่มบันทึกใหม่
2. Flight Data Recorder (FDR) ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการบินต่าง ๆ เช่น ความสูง ความเร็ว ทิศทาง และสถานะของระบบต่าง ๆ ในเครื่องบิน ข้อมูลที่บันทึกจะช่วยให้สามารถสร้างภาพเคลื่อนไหวของการบินก่อนเกิดอุบัติเหตุได้
1. ทำงานได้ปกติในช่วงอุณหภูมิ -55 ถึง 70 °C
2. ทำงานติดต่อกันได้อย่างน้อย 25 ชั่วโมงต่อเที่ยวบิน ซึ่งเที่ยวบินปกติยังไม่บินตรงนานขนาดนั้น
3. รองรับแรงกระแทกได้มากถึง 3,400 G ต่อ 6.5 มิลลิวินาที (ตอนทดสอบมักใช้ปืนใหญ่ยิง)
4. ทนแรงดันได้มากถึง 5,000 ปอนด์โดยต้องทดสอบแรงดันทั้ง 6 ด้านของกล่อง
5. ทนการถูกเจาะได้ ในการทดสอบจะใช้แท่งเข็มโลหะหนัก 500 ปอนด์ ทิ้งลงมาจากที่สูง 10 ฟุต
6. ทนไฟได้ถึง 1,110 °C เป็นเวลา 1 ชั่วโมง และทนไฟ 260 °C ได้นานติดต่อกันถึง 10 ชั่วโมง