“ดีอี” ยืนยันยังไม่ระงับ “โมบายแบงก์กิ้ง” ชี้มาตรการมีผลหลัง ต.ค. 2567 นี้ ย้ำไม่กระทบต่อประชาชน พร้อมขอความร่วมมือประชาชนทยอยยืนยันตัวตน
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการสายงานกิจการโทรคมนาคม คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และนายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ประธานผู้บริหาร Legal , Compliance & Finance crime ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงข่าวมาตรการตรวจสอบซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่ผูกกับบัญชีธนาคาร หรือ “โมบายแบงก์กิ้ง”
ประเสริฐ จันทรรวงทอง เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประชาชนมีความกังวล และเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องมาตรการตรวจสอบซิมการ์ดที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้งนั้น เพื่อป้องกันความสับสนและมีความเข้าใจในมาตรการดังกล่าว กระทรวงดีอีและหน่วยงานพันธมิตรขอชี้แจงว่า การดำเนินการตรวจสอบโมบายแบงก์กิ้งนั้น เป็นไปตามมาตรการกวาดล้างซิมม้า และบัญชีม้า เพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยจะมีการดำเนินการดังต่อไปนี้
1.ดำเนินการกวาดล้างซิมม้าต้องสงสัย ที่มีการแจ้งความผ่าน AOC 1441 แล้ว โดยการปิดกั้นซิมโทรศัพท์มือถือที่เข้าข่ายการกระทำความผิด เดือนละ 15,000 ซิม หรือสัปดาห์ละ 4,000 ซิม
2. การตรวจสอบรายชื่อลงทะเบียนใช้งานหมายเลขโทรศัพท์ที่ผูกกับบัญชีธนาคาร Mobile Banking จำนวน 106 ล้านหมายเลข โดยเริ่มกระบวนการตรวจสอบ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 และจะใช้เวลาตรวจสอบ 120 วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ตุลาคม 2567 ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบรายชื่อลงทะเบียนซิมว่าตรงกับโมบายแบงก์กิ้งของตัวเอง ผ่าน *179*กดเลขบัตรประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก กด # กดโทรออก โดยหากพบว่ารายชื่อไม่ตรงกับโมบายแบงก์กิ้ง สามารถแสดงหลักฐานเพื่อยืนยันตัวตนผ่านศูนย์บริการของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานอยู่
ทั้งนี้ยกเว้นกลุ่มประชาชน ใน 4 กลุ่มได้แก่ (1) บุคคลในครอบครัว (2) ผู้อนุบาลตามคำสั่งศาล (3) นิติบุคคล (4) และอื่นๆ ที่ธนาคารเห็นว่ามีเหตุอันควรในการใช้ชื่อไม่ตรงกันกับบัญชี ซึ่งกลุ่มนี้ธนาคารจะมีการแจ้งเตือนการยืนยันตัวตนผ่านระบบโมบายแบงก์กิ้งของแต่ละบัญชีเท่านั้น โดยไม่มีการแจ้งเตือนผ่านการส่งข้อความ SMS ปกติ
3. การกำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิดโดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง ธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยทาง ธปท.จะมีการออกประกาศภายในเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งปัจจุบันบางธนาคารได้มีการดำเนินการแล้ว
“ขอให้ประชาชนอย่ากังวล หรือตื่นตระหนกต่อกรณีดังกล่าว โดย กระทรวงดีอี , ปปง. , กสทช., สมาคมธนาคารและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีความจริงจังต่อการดำเนินการตามมาตรการนี้ ซึ่งเป็นการตัดตอนวงจรการกระทำความผิดของมิจฉาชีพ โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความปลอดภัยของประชาชน และขอยืนยันว่ามาตรการนี้จะไม่มีผลกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน” นายประเสริฐฯ กล่าว