การฆ่าตัวตาย เป็นหนึ่งในความสูญเสียที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ สุขภาวะของประชากร กรมสุขภาพจิต จึงร่วมกับกองบังคับการปราบปราม และ Social Influencer ร่วมช่วยผู้ที่คิดจะฆ่าตัวตาย โดยตั้งเป็น ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือ Hope Task force ขึ้น
เพื่อการป้องกันแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพจิตและป้องกันการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กองบังคับการปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผู้มีชื่อเสียงในสื่อออนไลน์ (Social Influencer) ได้แก่ หมอแล็บแพนด้า Drama-addict และ แหม่มโพธิ์ดำ ร่วมกันจัดตั้ง ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือ Hope Task force ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการดูแลช่วยเหลือบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ และนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ฟื้นฟู ส่งต่อ รวมถึงติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายต่อไป
เนื่องจากผู้คนใช้ช่องทางออนไลน์เป็นที่พูดคุย เล่า/ระบาย ส่งสาร แต่กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงอาจโพสต์ตำหนิตัวเอง แสดงความท้อแท้ กล่าวลา หรือทิ้งข้อความหดหู่ ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ผิดไปจากเดิมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่บ่งบอกถึงการพยายามทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายในท้ายที่สุด
HOPE Task Force ความหมายของการช่วย(ให้มี)ชีวิต
คำว่า HOPE ย่อมาจาก Helpers of Psychiatric Emergency ซึ่งหมายถึง ผู้ช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตฉุกเฉิน โดยทีมปฏิบัติการดังกล่าวเข้าช่วยเหลือผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบหรือมีสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกโซเชียลให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยในระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2563 - 30 สิงหาคม 2564 ทีมฯ ช่วยชีวิตผู้ที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายทั้งหมด 229 ราย เป็นเพศชาย 80 ราย และเพศหญิง 134 ราย
ในด้านผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยามีจำนวน 193 ราย ผู้ที่เข้าสู่ระบบการรักษาเนื่องจากเป็นผู้อยู่ในภาวะวิกฤตจำนวน 37 ราย และต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการกระทำซ้ำ 31 ราย ส่วนประเด็นปัญหาสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย สัมพันธภาพในครอบครัว มาเป็นอันดับแรก ตามมาด้วย ความรัก เศรษฐกิจการเงิน ตามลำดับ
........................................................................
อ่านเพิ่มเติม
นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ขอสื่อระวังการนำเสนอข่าวกราดยิงหนองบัวลำภู
กรมสุขภาพจิตเดือน ไม่ส่งต่อภาพเหตุการณ์รุนแรง จากเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู
แพทย์แนะ รู้ทันความเครียดจากโซเชียลมีเดีย กระทบสุขภาพจิต-ความสัมพันธ์
........................................................................
แนวทางการดำเนินงานของ HOPE Task Force
การผนึกกำลังเพื่อช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายนี้ เป็นการดึงความแข็งแกร่งระหว่าง กองบังคับการปราบปราม ที่มีศักยภาพในการสืบสวนและประสานงานในการเข้าถึงพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทั่วประเทศ กับ Social Influencer ที่มีความสามารถในการเข้าถึงสัญญาณเตือน ซึ่งส่งมาจากพี่น้องประชาชนได้อย่างรวดเร็ว โดยในระยะแรก ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย จะเน้นการช่วยเหลือบุคคลที่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายบนโลกออนไลน์เป็นสำคัญ
ในแต่ละปี การฆ่าตัวตาย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สาคัญ ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ซึ่งเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 นั้น การเก็บข้อมูลของศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติผ่านแบบเก็บข้อมูล รง506 พบว่า มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 2,551 ราย คิดเป็น 3.89 ต่อประชากร 100,000 คน
และหลังจากมีระบบการช่วยชีวิตที่รวดเร็ว การให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตอย่างฉับไวโดย ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีข้อมูลด้านการให้ความช่วยเหลือที่ทำได้จริง ตลอดจนมีแผนพัฒนา-ขยายการให้ความช่วยเหลือ มีแนวทางติดตามดูแลรักษาและบำบัดเยียวยาในระยะยาวเพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำในอนาคต และอีกหลายองค์ประกอบที่สอดคล้องกับ เป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ส่งผลให้ การช่วยเหลือบุคคลที่ส่งสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ (HOPE Task Force) เป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับ รางวัลเลิศรัฐ ประเภทพัฒนาบริการภาครัฐ (PSA) ระดับดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 นี้