8 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ เตรียมตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย ตอบรับการสนับสนุนจากภาครัฐ และบีโอไอ ซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆต้องหันมาลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า 100% ซึ่งจะทำให้จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมจำหน่ายในไทยเพิ่มขึ้นและสัดส่วนราคาที่ถูกลง
8 ค่ายยานยนต์ยักษ์ใหญ่ ประกาศลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็น Foxxconn , GWM , MG ,BYD , Ford และค่ายอื่นๆอีกหลายค่ายที่กำลังดำเนินเรื่อง ซึ่งเป็นข่าวดีของคนไทยที่จะมีโอกาสใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการ
สปริงนิวส์ ได้สอบถามไปยังนายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมรถ EV ว่าทำไม? บริษัทยักษ์ใหญ่ ถึงให้ความสนใจในการลงทุนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
จึงสามารถสรุปได้ดังนี้
ประเทศไทยเองเมื่อมองย้อนกลับไปเรามีเฟสในการผลิตรถยนต์ “อันดับที่ 11” ของโลกอยู่แล้วที่ผลิตรถยนต์สันดาปภายใน
แต่ตอนนี้เทรนด์ของโลกกำลังปรับเปลี่ยนเป็น รถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ทุกค่ายจริงๆแล้วมีเทคโนโลยีอยู่ในมืออยู่แล้ว เพียงแต่ละเปิดตัวและลงทุนในประเทศที่มีกฎระเบียบรองรับและมีความต้องการของลูกค้า
ฝั่งของประเทศไทย BOI หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็ได้มีการรองรับในส่วนนี้ ทั้งส่วนลดต่างๆ การสนับสนุนลดภาษีต่างๆ จึงทำให้เกิดความต้องการในประเทศไทยสูงขึ้น
ซึ่งขณะนี้ทุกบริษัทมองประเทศไทยในภาพรวมเดียวกัน เพราะประเทศไทยมีการตั้งเป้าหมายสัดส่วนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชัดเจน
การลงทุนครั้งนี้ ของทั้ง 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ จะส่งผลอะไรกับประเทศไทยบ้าง ?
ในบ้านเราที่ผ่านมาในส่วนของ Supply Chain เป็นสันดาปภายในเสียส่วนใหญ่ เครื่องยนต์ , สายพาน , ลูกสูบ เทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกทดแทนโดย แบตเตอรี่ , มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งในประเทศไทยกำลังเริ่มที่จะมีการผลิตต่างๆเพื่อรองรับกับการผลิตที่จะมีมากขึ้นในอนาคต
โดยทั่วไปเมื่อเรามีฐานการผลิตพร้อม ก็จะทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง และพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆน้อยลง โดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศได้มากขึ้น
ซึ่งทำให้เราเห็นได้ว่า ช่วงราคาของรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฟฟ้า ในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าราคาต่ำกว่าล้านลงมา กับรถยนต์อีโคคาร์ “ราคาแทบจะไม่ต่างกัน”เนื่องจากส่วนลดรัฐบาลและการลดหย่อนภาษี และนี่จะเป็นทางเลือกที่ดีของลูกค้าในประเทศไทย ที่สามารถหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น
ที่มา : กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย
สปริงนิวส์ยังได้มีโอกาสสอบถามจาก แหล่งข่าวจากกลุ่มยานยนต์ สอท.โดยตรงและได้ข้อมูลสรุปมาดังนี้
ปัจจุบันเป้าหมายการผลิต มุ่งเน้นไปที่การส่งออก หรือจำหน่ายในประเทศไทย?
โปรเจกต์ส่วนใหญ่เน้นการจำหน่ายในประเทศ ทุกบริษัทเวลามาลงทุนต้องโฟกัสตลาดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น 60:40 เช่น ตลาดในประเทศ 60% หรือ ส่งออก 40% หรือจะเป็น 70:30
การตั้งฐานผลิตในไทย พวกชิ้นส่วนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่ระบบไฟฟ้าทั้งรถ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะเรียกว่า Electric Power Train เช่น แบตเตอรี่ , ชิป , มอเตอร์ไฟฟ้า ยังคงต้องนำเข้า แต่ชิ้นส่วนอื่นๆ ก็สามารถใช้ในประเทศไทยได้ เช่น ยางรถยนต์ , ล้อแม็ค , เบาะ , หลอดไฟ เพราะฉะนั้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจะไม่จำเป็นต้องนำเข้าทั้งหมดอีกต่อไป
ที่มา : แหล่งข่าวจากกลุ่มยานยนต์ สอท.
เมื่อทางผู้เขียนได้ทราบถึงข้อมูลต่างๆจึงทำให้วิเคราะห์ได้ดังนี้
ประเทศไทยอาจก้าวสู่อันดับ Top 10 ของฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก
สัดส่วนในการผลิตและจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ราคาของชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆอาจมีแนวโน้มที่จะราคาถูกลง เนื่องจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อาจมีกิจการร่วมการค้า (Joint Venture) เข้ามาให้การลงทุนเพิ่มเติม
โปรโมชั่นและราคาต่างๆ จะใกล้เคียงกับรถยนต์สันดาปมากขึ้น และในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าอาจมีราคาถูกกว่ารถสันดาป เนื่องจากหลายๆปัจจัย เช่น การสนับสนุนจากรัฐบาล , การตั้งโรงงานผลิตในไทย , เป้าหมายในการจำหน่ายในประเทศไทย
เพราะฉะนั้นในอนาคตประเทศไทยจะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และยังมีทางเลือกในการเลือกซื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การขยายสถานีชาร์จต่างๆจะสามารถทำได้รวดเร็วและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงหรือค่าน้ำมันของประชาชนในประเทศไทย