ในปัจจุบันนี้จำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น การดูแลผู้ใหญ่ในบ้านจึงมีความสำคัญ หลายคนอาจมีความกังวล หรือไม่รู้ว่าเราควรดูแลผู้สูงอายุในบ้านเรื่องไหน ควรดูแลอย่างไรให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง และจิตใจแจ่มใส เรามีเคล็ดลับจากกรมกิจการผู้สูงอายุมาฝาก
องค์การสหประชาชาติ ได้นิยามคำว่า ผู้สูงอายุ ไว้ว่า หมายถึง ประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งก็ตรงกับนิยามผู้สูงอายุของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 ผู้สูงอายุจะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายซึ่งเป็นไปตามวัย ตัวอย่างเช่น ผิวหนังเหี่ยวย่น สีผมเปลี่ยนเป็นสีขาวหรือสีเทา เคลื่อนไหวร่างกายได้ช้าลง ความสามารถในการมองเห็นลดลง ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจอีกด้วย สิ่งที่พวกเราซึ่งเป็นลูกหลานควรทำก็คือ การให้ความรัก ความห่วงใย ดูแลเอาใส่ใจผู้สูงอายุในบ้าน อย่าให้ท่านรู้สึกอ้างว้าง เหมือนถูกทอดทิ้งไว้เพียงลำพัง
แนวทางการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุให้สุขภาพดีทั้งกายและใจ
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายและอวัยวะต่างๆ เสื่อมสภาพลงไปตามวัย เราจึงควรดูแลสุขภาพร่างกายของผู้สูงอายุเป็นพิเศษ และยังควรให้ดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุให้ดีอยู่เสมอ
ดูแลสุขภาพกระตุ้นร่างกายให้เคลื่อนไหว
-ควรพาผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการเกิดโรค เช่น กระดูกผุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง และยังช่วยในเรื่องการนอนหลับ อารมณ์และความจำ
-หากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำเพื่อให้เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ประมาณครั้งละ 30 นาที โดยเลือกกิจกรรมให้เหมาะสม เช่น เดินเร็ว ขึ้นลงบันได ว่ายน้ำ ฝึกออกกำลังกายอย่างง่ายโดยใช้เก้าอี้ช่วย
- ลองให้ผู้สูงอายุถือของเล็กๆ น้อยๆ บ้างตามสมควร
- ชวนผู้สูงอายุทำสวน ทำกิจกรรมเข้าจังหวะอื่นๆ หรือกิจกรรมที่กระตุ้นการเดิน ขยับร่างกายเพื่อสุขภาพที่ดี
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
ส่องเทรนด์ ! บ้านคอนโดผู้สูงอายุ แบบไหนที่ลูกค้าเป็นปลื้ม ทำเลไหนฮิต
เที่ยวกับผู้สูงอายุ แบบไร้กังวล เตรียมตัวพร้อม เที่ยวที่ไหนก็สนุก
ดูแลสุขภาพเรื่องการปัสสาวะและขับถ่าย
- ดูแลให้ดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอ เนื่องจากอาการเกี่ยวกับปัสสาวะจะกำเริบได้หากดื่มน้ำน้อย
- ลดปริมาณการดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนและน้ำตาลที่เยอะจนเกินควร
- ตรวจดูว่ายารักษาโรคที่ใช้อยู่ส่งผลต่อการขับปัสสาวะของผู้สูงอายุหรือไม่
ดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
-ชวนผู้สูงอายุพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ หรือติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ในกรณีที่ไม่ได้เจอกัน
-สอนให้ผู้สูงอายุใช้งานอินเทอร์เน็ต และ social media เพื่อให้ท่านได้ทำกิจกรรมใหม่ๆในยามว่างที่ไม่ได้ออกไปข้างนอก ทั้งยังสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วยเสริมสร้างทักษะใหม่ๆให้ผู้สูงอายุได้มีสุขภาพดีทั้งกายใจ
- เข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมหรือชุมชน เพื่อทำกิจกรรมและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากขึ้น
- วางแผนทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ท่านไม่เหงาและเกิดภาวะเครียด
ใครที่กังวลเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ เรามีคำแนะนำจาก น.พ.ธีรพล โตพันธานนท์ รองอธิบดีกรมอนามัย ได้แนะนำเคล็ดลับจำง่ายๆ ในการดูแลผู้สูงอายุตามหลัก 5 อ. ดังนี้
1. อ.อาหาร
ควรให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารที่หลากหลาย ได้สัดส่วนเพียงพอครบ 5 หมู่ เน้นย่อยง่ายและสะอาด อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
2. อ.ออกกำลังกาย
ควรออกกำลังกายทุกส่วนสัด กระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้สูงอายุควรเคลื่อนไหวออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม ซึ่งมีหลากหลายวิธี เช่น ยืดเส้นยืดสาย ยืดเหยียด ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงการออกแรงเกินกำลัง ความเร็วสูง เกร็ง ยกน้ำหนัก การอยู่ในสถานที่ร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท อยู่กลางแดดจ้า
3. อ.อารมณ์
คือ อารมณ์รื่นเริงยินดี ชีวีสดใสด้วยรอยยิ้ม จิตแจ่มใส มองโลกในแง่บวก ไม่เครียด ช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่ลูกหลาน คนรอบข้าง
4. อ.อดิเรก
ควรหางานอดิเรกให้ผู้สูงอายุ เพิ่มพูนคุณค่า เกื้อกูลสังคม หากิจกรรมงานอดิเรกที่ชอบ ทำแล้วเพลิดเพลิน และมีคุณค่าทางจิตใจ เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรม พบปะสังสรรค์ ให้คำปรึกษาแนะนำฟังเพลง ปลูกต้นไม้
5. อ.อนามัย
สร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี หมั่นตรวจสุขภาพ ปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน งด ละ เลิกอบายมุข บุหรี่ เหล้าหรือของมึนเมา
Cr. กรมกิจการผู้สูงอายุ / www.thaihealth.or.th / กรมสุขภาพจิต