svasdssvasds

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักเบื้องต้นควรทำอย่างไร?

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักเบื้องต้นควรทำอย่างไร?

โรคลมชัก เป็นโรคทางสมองที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยมักมีอาการชักซึ่งหลายคนอาจช่วยเหลือผู้ป่วยโดยเอาช้อนงัดปากซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ผิดและอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ แพทย์ได้แนะนำวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักเบื้องต้นควรทำอย่างไร?

โรคลมชัก เกิดจากความผิดปกติของสมองตั้งแต่โดยกำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลัง มีผลให้ส่งกระแสไฟฟ้าผิดปกติ แล้วแสดงออกเป็นอาการชัก ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งปัญหาสุขภาพในฐานะของโรคและความเจ็บป่วย ยากลำบากต่อการเข้ารับการศึกษา การประกอบอาชีพ ตลอดจนคุณภาพชีวิต

อาการแสดงของโรคลมชัก

- เหม่อลอย 
- หูแว่ว
- เห็นภาพหมุน 
- เกร็ง ชัก กระตุก
- วูบ เบลอจำอะไรไม่ได้ชั่วขณะ
- เคี้ยวปาก
- บางครั้งเคลื่อนไหวแขนขาไปมาในท่าเดิมซ้ำๆ

อาการชักเกิดขึ้นและหายเองในระยะเวลาอันสั้น โดยส่วนมากประมาณไม่เกิน 2 นาที บางครั้งสังเกตได้ยากทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัว หรือบางครั้งมีอาการชักแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่แปลก ทำให้ถูกมองว่าป่วยด้วยโรคทางจิตเวช หรือมองเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ผีเข้า นั่นอาจเป็นเหตุให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องซึ่งในความเป็นจริงแล้วโรคนี้สามารถรักษาหายได้

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

หากผู้ป่วยโรคลมชักได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยปราศจากอาการชัก ในกรณีผู้ป่วยที่ ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยากันชัก ปัจจุบันก็ยังสามารถให้การรักษาด้วยการผ่าตัดสมอง ซึ่งจะมีขั้นตอนการประเมินผ่าตัดในผู้ป่วยแต่ละรายไป โดยสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคลมชักแบบครบวงจรมีเครื่องมือที่ทันสมัยและมีความพร้อมในการประเมินการผ่าตัด และรับส่งต่อผู้ป่วยจากทั่วประเทศ

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า "ผู้ป่วยที่มีอาการชัก บางครั้งมีอาการเกร็งกระตุกรุนแรง บางครั้งหลังชักมีอาการสับสนวุ่นวาย การช่วยเหลือระหว่างที่ชักและหลังชักแล้ว จึงควรช่วยเหลือดูแลเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เนื่องจากขณะมีอาการชัก ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว และไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ผู้ดูแลจึงควรป้องกันอันตรายโดยรอบที่อาจเกิดขึ้น เช่น

-อย่าให้ตกน้ำ

-อย่าให้เดินไปเดินมาในพื้นที่อันตราย

-อย่าให้สัตว์ร้าย มาทำอันตราย

-อย่าให้ประสบอุบัติเหตุ จนกว่าจะรู้ตัวรู้เรื่องหรือเป็นปกติ เท่านี้คือการดูแลให้ปลอดภัย

หลายคนยังเป็นความเชื่อที่ผิดในการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชัก  ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย เช่น กดท้องแรงๆ, การหาอะไรใส่ปาก, พยายามจับยึดกดแขน กดขา ให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งๆ อันนี้อันตรายต่อทั้งต่อตัวผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ

วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมชักเบื้องต้น

-ไม่ควรเอาช้อนหรือสิ่งของงัดปาก
-ไม่ง้างปาก ไม่กดตัวผู้ป่วย
-จับผู้ป่วยนอนตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง
-คลายเสื้อผ้าให้หลวม
-ป้องกันไม่ให้พลัดตกจากที่สูง
-อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท
-หากผู้ป่วยชักนาน 5 นาทีขึ้นไป หรือได้รับบาดเจ็บขณะชัก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ

โรคลมชัก Cr. สถาบันประสาทวิทยา