svasdssvasds

รวมอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยมักตกเป็นเหยื่อมากที่สุด

รวมอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยมักตกเป็นเหยื่อมากที่สุด

ยุคนี้เป็นยุคของโลกดิจิตัลหรือโลกออนไลน์ ช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ทำให้เราทันข่าวสาร แบ่งปันความรู้ ข้อมูล และยังทำให้การเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ เป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันโลกออนไลน์ก็นำมาซึ่ง อาชญากรรมออนไลน์ หรือ อาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime)

อาชญากรรมออนไลน์ของเหล่ามิจฉาชีพได้ใช้เทคโนโลยีในการหลอกลวงเหยื่อในรูปแบบต่างๆ มาดูกันดีกว่าว่า อาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยตกเป็นเหยื่อมาที่สุดมาในรูปแบบไหนบ้าง

รวมอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยมักตกเป็นเหยื่อมากที่สุด

หลอกลวงผ่านอีเมล (Email scam) 

ตอนนี้มิจฉาชีพมีการส่ง SMS หรือ Email ปลอม มักจะอ้างว่า ยินดีด้วยคุณถูกรางวัล หรือคุณได้รับเงินจาก…. และเชิญชวนทำงาน เพียงกดที่ลิงก์นี้  สิ่งที่มิจฉาชีพต้องการคือให้เหยื่อเข้าไปกรอกข้อมูลในหน้าเว็บไซต์ปลอมที่ถูกสร้างเอาไว้เพื่อขโมยข้อมูล

หลอกขายสินค้า (Sales scam) 

อาชญากรรมออนไลน์จากการโดนโกงจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นกรณีที่เราพบเห็นได้บ่อยในลักษณะการหลอกขายสินค้าให้โอนเงินแต่ไม่ส่งสินค้า หรือสินค้าไม่ตรงปก สั่งอีกอย่างส่งอีกอย่างมา และสินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือได้สินค้าของปลอม ที่อ้างว่าลดราคาขายถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป 

เนื้อหาที่น่าสนใจ :

รวมอาชญากรรมออนไลน์ที่คนไทยมักตกเป็นเหยื่อมากที่สุด

หลอกรักออนไลน์ (Romance Scam)

อาชญากรรมออนไลน์ที่พบได้บ่อยคือ มาหลอกให้รัก มาหลอกให้หลงและจากไป  มิจฉาชีพเหล่านี้มักจะสร้างโปรไฟล์ที่ดูดี หล่อ สวย มีฐานะ ดูน่าเชื่อถือ เข้ามาพูดคุย ตีสนิทสานสัมพันธ์ เมื่อเหยื่อหลงรัก หลงเชื่อใจจนขาดสติ จะให้โอนเงินหรือทรัพย์สินอื่นๆ ให้มิจฉาชีพ บางรายถูกหลอกใช้ขนส่งยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย

หลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam) 

มิจฉาชีพพวกนี้จะคล้ายกับการ Romance Scam แต่จะใช้ความโลภของเหยื่อมาหลอกลวง ยิ่งโลภมากยิ่งเสียเงินมาก โดยสร้างโปรไฟล์ปลอมเป็นนักลงทุน มีทรัพย์สินจำนวนมาก จากนั้นส่งข้อความถึงเหยื่อเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจ หลอกให้เกิดความโลภอ้างว่ามีช่องทางการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนสูง ถ้าเหยื่อไม่ได้เอะใจอยากรวยทางลัดโดยไม่ศึกษาให้ดี จะถูกหลอกให้ลงทุนเรื่อยๆ เพิ่มเงินเข้าไปทีละนิด โดยใช้ Application หรือเว็บไซต์ลงทุนปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้น และเชิดเงินหนีหายไป 

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ (Vishing Phishing)

อาชญากรรมออนไลน์รูปแบบนี้พบเห็นได้บ่อย และยังคงมีคนหลงเชื่อ โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์พวกนี้จะพยายามสร้างสถานการณ์ เล่นกับความกลัวให้เหยื่อตกใจ มักจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานต่างๆ อ้างว่าเหยื่อมีส่วนร่วมกับสิ่งผิดกฎหมาย บัญชีธนาคารถูกใช้ฟอกเงินหรือตรวจพบสิ่งของผิดกฎหมายจากบริการขนส่ง  พอเหยื่อกลัวและตกใจจนขาดสติก็จะให้บอกข้อมูลส่วนตัวหรือให้โอนเงินเพื่อความสุจริต

ลงทุนแชร์ลูกโซ่ (Ponzi scheme)

ขบวนการแชร์ลูกโซ่มีการพัฒนาให้ทันสมัยและทำให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น มาทั้งในรูปแบบของ  Application หรือเว็บไซต์ มักจะหลอกชักชวนให้ร่วมลงทุน มักอ้างว่าถ้าคุณลงทุนกับเราจะมีผลกำไรตอบแทนที่สูงในระยะเวลาสั้นๆ โดยช่วงแรกจะได้รับเงินจากการลงทุนจริง แต่เมื่อมีเหยื่อหลงกลร่วมลงทุนขยายเครือข่ายมากขึ้น สุดท้ายก็ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่อ้างไว้ และหนีหายไปพร้อมกับเงินที่ลงทุน

Cr. ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม