ไขข้อสงสัยความผันผวนของราคาน้ำมัน เดี๋ยวราคาขึ้น เดี๋ยวราคาถูกลง เกิดขึ้นจากสาเหตุ หรือ ปัจจัยใดบ้าง? ใครเป็นผู้กำหนด แล้วที่ว่า ราคาน้ำมันของประเทศไทยนั้น แพงกว่าหลายประเทศแถบเพื่อนบ้านจริงหรือไม่? เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง
ารขึ้นๆ ลงๆ ของราคาน้ำมันในประเทศไทย มาจากอะไร?
ทำไมเดี๋ยวขึ้น ทำไมเดี๋ยวลง ใครเป็นคนกำหนด
ราคาน้ำมันในไทย แพงกว่า อาเซียน จริงหรอ เดี๋ยวโอ๋สรุปให้ฟัง
ก่อนจะดูว่า สาเหตุความผันผวน หรือ การขึ้นลง ของราคาน้ำมันในไทยขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
ต้องรู้ก่อนว่า ราคาน้ำมัน 1 ลิตร ประกอบด้วยค่าอะไรบ้าง?
1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น อ้างอิงราคาตามตลาดกลางภูมิภาคเอเชีย ซึ่งก็คือสิงคโปร์นั่นเอง
2. ภาษีต่างๆ ภาษีสรรพสามิต,ภาษีเทศบาล และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
3. กองทุนต่างๆ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
4. ค่าการตลาด ซึ่งยังไม่ใช่กำไรสุทธิของผู้ประกอบการ เพราะยังไม่ได้หักต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น จัดการคลังน้ำมัน การขนส่ง ค่าพนักงาน
4 ข้อนี้เรียกว่า โครงสร้างราคาน้ำมัน
ซึ่งแต่ละประเทศก็มีโครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่เหมือนกัน
- ไทย เวียดนาม จะมีโครงสร้างราคาน้ำมันใกล้เคียงกัน
- เมียนมา นำเข้าน้ำมันที่กลั่นแล้วจากไทย แต่เก็บภาษีถูก ไม่ถึง 10% ราคาถูกกว่าไทย
- สิงคโปร์ แพงกว่าไทยเป็นเท่าตัว เพราะแม้เป็นศูนย์กลางซื้อขายน้ำมันสำเร็จรูปของอาเซียน แต่ค่าครองชีพเขาสูง เก็บภาษีสูง ค่าดำเนินการสูง
- บรูไน มาเลเซีย เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันเองโครงสร้างราคาจึงถูกกว่าประเทศอื่น
สรุปถ้ามองจากข้อมูลนี้ ราคาน้ำมันในบ้านเราถือว่าอยู่ระดับกลางเมื่อเทียบกับอาเซียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
แต่ความผันผวนของราคาน้ำมัน ที่มีขึ้น - ลง ยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง คือ ราคาน้ำมันดิบโลก ความต้องการน้ำมัน และ อัตราแลกเปลี่ยน
ราคาน้ำมันดิบโลก : ไทยเราแม้จะผลิตน้ำมันได้เองส่วนหนึ่ง แต่ปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเราต้องนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อนำมากลั่นสูงถึง 80 – 90% ในแต่ละปี น้ำมันดิบเหมือนสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ตามปกติ สินค้าจะถูกจะแพง ขึ้นอยู่กับ กลไกตลาด ตามหลักเศรษฐศาสตร์ หากช่วงไหนที่การผลิต น้อยกว่าความต้องการ น้ำมันก็จะแพง ผลิตมากกว่าความต้องการ น้ำมันก็จะถูก เช่น
ช่วงโควิด 19 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ปี 2563 ราคาน้ำมันลดต่ำลงเป็นอย่างมาก เพราะตอนนั้นผู้คนเดินทางน้อย ภาคอุตสาหกรรมก็ผลิตสินค้าต่าง ๆ น้อยลง เศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้มีการใช้พลังงานและความต้องการน้ำมันลดลง
ราคาน้ำมันก็ลดลง แต่หลังจากที่เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ความต้องการน้ำมันกลับมา ผู้คนเริ่มออกเดินทาง โรงงานต่าง ๆ กลับมาผลิต มีการซื้อ-ขายสินค้า เกิดการเดินทางขนส่ง มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แต่การผลิตน้ำมันชะลอตัว มีความต้องการมาก ราคาก็สูงขึ้น รวมถึงความกังวลต่อความขาดแคลนน้ำมัน ที่มาจากสงคราม เช่น รัสเซีย ยูเครน อีกด้วย
อัตราแลกเปลี่ยน : ค่าเงินแข็ง ต้นทุนราคานำเข้าถูก ค่าเงินอ่อน ราคานำเข้าแพง
สรุปแล้วการที่ราคาน้ำมันไทย มีความผันผวนสูง
สาเหตุมาจากหลายปัจจัย น้ำมันเป็นพลังงานสิ้นเปลืองใช้แล้วหมดไป คงจะดีกว่าถ้าเราช่วยกัน ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า หันมามองหาพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานหมุนเวียน เพื่อความยั่งยืนต่อไปในอนาคต