svasdssvasds

สมชื่อหนองงูเห่า! งานวิจัยเผย สนามบินสุวรรณภูมิ เสี่ยงน้ำท่วมที่สุดในโลก

สมชื่อหนองงูเห่า! งานวิจัยเผย สนามบินสุวรรณภูมิ เสี่ยงน้ำท่วมที่สุดในโลก

งานวิจัยจากประเทศอังกฤษ เผย สนามบินสุวรรณภูมิ มีความเสี่ยงน้ำท่วมมากที่สุดในโลก โดยงานวิจัยนำ ข้อมูลตำแหน่งของสนามบิน 14,000 แห่งทั่วโลกมาวิเคราะห์ ร่วมกับความเสี่ยงเผชิญคลื่นพายุซัดฝั่ง , ความหนาแน่นของเที่ยวบิน และมาตรการรับมือน้ำท่วมปัจจุบันของท่าอากาศยาน

จากงานวิจัยสนามบินใดเสี่ยงน้ำท่วม

นับได้ว่าเป็นเรื่องที่กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เมื่อ มีการเผยแพร่งานวิจัย ในในวารสาร Climate Risk Management ฉบับพฤษภาคม 2564 ในหัวข้อ สนามบินใดมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมจากการเพิ่มของระดับน้ำทะเลมากที่สุด และผลของงานวิจัยระบุออกมาว่า สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติอันดับ 1 ของไทย กลายเป็นสนามบินที่เสี่ยงที่สุดในโลก
สำหรับ งานวิจัยนี้ เป็นของ แอร่อน เยซุเดียน่า และ ริชาร์ด ดอว์สัน ภาควิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย นิวคาสเซิ่ล ประเทศอังกฤษ เปิดเผยว่า งานวิจัยในหัวข้อ สนามบินใดมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมจากการเพิ่มของระดับน้ำทะเล ใช้วิธีคิดและตัวแปรในการวิจัย ได้แก่ 1. การนำตำแหน่งที่ตั้งของสนามบิน 14,000 แห่งทั่วโลก , 2. ความเสี่ยงเผชิญคลื่นซัดฝั่ง , 3 ความหนาแน่นของการจราจรการบิน และ 4 มาตรการรับมือน้ำท่วมของท่าอากาศยาน

ทั้งนี้ มีสนามบิน 269 แห่งที่เสี่ยงน้ำท่วม เนื่องจากสถานที่ตั้งใกล้เมืองซึ่งประชากรโลก 10% อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบต่ำสูงเหนือระดับน้ำทะเลไม่เกิน 10 เมตร และหากอุณหภูมิโลกยังเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ แตะ 2 องศาเซลเซียสในปีค.ศ. 2100  ตามที่นานาชาติได้ตกลงในข้อตกลงปารีสเพื่อร่วมกันดูแลโลก จะมีสนามบินที่อยู่ใต้ระดับน้ำทะเล 100 แห่ง และเสี่ยงน้ำท่วมร่วม 572 แห่ง

หนองงูเห่ายืนหนึ่งความเสี่ยง

โดยจากงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า สนามบินที่เสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมมากที่สุด หากเกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ และมีการเพิ่มระดับน้ำทะเลในอนาคต นั่นคือ สนามบินสุวรรณภูมิ 

ขณะที่ ประเทศจีน มีสนามบินติดโผมาใน 20 อันดับแรกมากที่สุด โดยติดถึง 10 สนามบิน และสนามบิน ท่าอากาศยานนานาชาติเหวินโจว หลงวาน ประเทศจีน ก็อยู่ในลำดับที่ 2 ต่อจากสนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะที่ สนามบินดอนเมือง อีกหนึ่งสนามบินเก่าแก่ของไทย ติดโผอยู่ในอันดับที่ 71 ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม  ส่วนสนามบินในยุโรป มีเพียงสนามบิน คอร์โว ในโปรตุเกส สนามบินเดียว ที่ติดโผเข้ามาในลำดับที่ 11

ทั้งนี้ ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ต่อวงการบินเกิดขึ้นหลายด้าน อาทิในอดีต เมื่อปี 2018 สนามบินคันไซ ประเทศญี่ปุ่นน้ำท่วมเพราะคลื่นซัดฝั่งสูง 3 เมตรด้วยอิทธิพลไต้ฝุ่น นอกจากนี้ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งทิศทางลม อุณหภูมิ และความหนาแน่นอากาศ ยังกระทบกับการบิน

lazada

Suvannaphummi airport

20 อันดับสนามบินเสี่ยงน้ำท่วม

โดย 20 อันดับสนามบินที่เสี่ยงน้ำท่วม เพราะวิกฤตสภาพอากาศ จากงานวิจัย มีดังนี้

  • 1 สุวรรณภูมิ (BKK)                 ไทย
  • 2. เหวินโจว หลงวาน (WNZ)     จีน
  • 3. เซจ (EGM)   หมู่เกาะโซโลมอน
  • 4. เฉงโจว จินจัง (JJN)        จีน
  • 5. ฉางโจว เปนนิว (CZX)    จีน
  • 6. รามาทา (RBV)        หมู่เกาะโซโลมอน
  • 7. ซูอาวานาโอ (VOA)        หมู่เกาะโซโลมอน
  •  8. โบซาโซ (BSA)        โซมาเลีย    
  • 9. เฟรา (FRA)        หมู่เกาะโซโลมอน
  • 10. เรนเนลล์ (RNL)        หมู่เกาะโซโลมอน
  • 11. คอร์โว  (CVU)        โปรตุเกส
  • 12. ชอยโซล์ เบย์ (CHY)    หมู่เกาะโซโลมอน
  • 13. เซี่ยงไฮ้ หงเฉียว (SHA)    จีน
  •  14. เป๋ยไห่ (BHY)        จีน
  • 15. เหยียนเฉิง (YNZ)        จีน
  • 16.  เหลียนหยุนกัง (LYG)    จีน
  • 17. เจียหยางเฉาซ่าน (SWA)    จีน
  • 18.  หลู่เฉียว(HYN)        จีน
  • 19. โจวซาน (HSN)        จีน
  • 20. อ่าวอูรู (ATD)  หมู่เกาะโซโลมอน

indexairport

ประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเลไม่เสี่ยง ?

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นนี้ ทำให้มีการตั้งคำถามและสงสัยว่า ในหลายๆประเทศที่มีอยู่ ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำไมจึงไม่มีความเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม หรือเสี่ยงน้อยกว่าในรายชื่อสนามบินเหล่านี้ที่กล่าวมา

โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ เบเนลักซ์ ซึ่งประกอบไปด้วย เนเธอร์แลนด์ ,เบลเยียม และ ลักแซมเบิร์ก ซึ่งมีพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเป็นส่วนใหญ่  หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน นั่นคือประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่มีสนามบินนานาชาติอัมสเตอร์ดัม รวมถึงมีสนามบินอื่นๆอีก อาทิ สนามบินไอนด์โฮเฟ่น และสนามบินร็อตเตอร์ดัม แต่เพราะเหตุใดไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วม

คำตอบของเรื่องนี้ คือ นวัตกรรมและแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยเนเธอร์แลนด์ มีองค์กรในการจัดการน้ำและอุทกภัยอย่างเป็นเอกเทศ และระบบการจัดการน้ำของที่นี่มีมานานนับพันปีแล้ว ที่ยังคงเป็นหลักฐานมาถึงปัจจุบันคือกังหันลม สัญลักษณ์ของประเทศ เครื่องมือสำหรับวิดน้ำออกจากบริเวณที่น้ำท่วมขัง

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญ คือ คลองวงแหวนแห่งอัมสเตอร์ดัม ระบบคลองและประตูน้ำเพื่อระบายและบริหารน้ำเพื่อป้องกันเมืองหลวงจากน้ำท่วม

แต่ไม่ใช่ว่าเนเธอร์แลนด์จะไม่เคยประสบกับอุทกภัย เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว ปริมาณน้ำกว่า 16 ฟุตเข้าทำลายพื้นที่และคร่าชีวิตผู้คนเกือบ 2 พันคน และด้วยวิกฤตครั้งนั้น ทำให้เนเธอร์แลนด์หาวิธีปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Delta Works แต่ทุกวันนี้เนเธอร์แลนด์ก็ยังหาทางแก้ไขและรับมือกับปัญหาอยู่เสมอๆ

    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินและความจริงที่ว่าชายฝั่งส่วนใหญ่ของโลก กำลังเผชิญความเสี่ยงระดับน้ำทะเลขึ้นสูง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่นานาชาติจะเข้าใจความเสี่ยงนี้และหาทางปรับตัว เพราะทุกวันนี้วิกฤตสภาพแวดล้อมที่กำลังเจอการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจและน่ากังวล

...หากปล่อยไว้โดยไม่มีการระวังป้องกัน ความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมอันดับ 1 อย่างสนามบินสุวรรณภูมิ... อาจจะกลายเป็นจริงขึ้นมาในอนาคตอันใกล้