รู้ไหมว่า ‘หลอดพลาสติก’ เป็นขยะชิ้นเล็กๆ ที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้างเป็นอย่างมาก กระทบทั้งพื้นดินและมหาสมุทร รวมถึงส่งผลกระทบกับสัตว์ทะเลอีกด้วย
ตัวอย่างมีให้เห็นในโลกโซเชียลที่หลอดพลาสติกเสียบจมูกเต่าทะเลซึ่งสร้างความหดหู่ใจกับผู้พบเห็นคลิปนี้ และทำให้เห็นว่าหลอดพลาสติกชิ้นเล็กๆ แค่เพียงชิ้นเดียว สามารถสร้างความเสียหายได้เจ็บปวดขนาดนี้ เปรียบเสมือนโดมิโนที่ส่งผลกระทบไปเรื่อยๆ
ในแต่ละวันมีหลอดพลาสติกราว 500 ล้านชิ้นที่ถูกใช้และทิ้ง ซึ่งถือเป็นการใช้งานในระยะเวลาสั้น เฉลี่ยการใช้หลอดต่อครั้งก็ไม่เกิน 20 นาที อีกทั้งยังเป็นการใช้เพียงครั้งเดียว ในส่วนการย่อยสลายนั้นกลับตรงกันข้าม ใช้ระยะเวลาถึง 200 ปี ขยะพลาสติกประเภทหลอดจึงนับเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบในวงกว้าง จากปัญหานี้ทางมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนจึงได้เริ่มโครงการรณรงค์นำขยะหลอดใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เพื่อสร้างความรู้ ความตระหนัก และช่วยลดปัญหาขยะ และต่อยอดมาสู่โครงการต่ออายุหลอดพลาสติก ถ่ายทอดองค์ความรู้การพัฒนาวัสดุ Upcycling จากหลอดพลาสติกใช้แล้วสู่ชุมชน ซึ่งทางมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ได้ทำงานร่วมกับ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.จิระวุฒิ จันเกษม นักวิจัยอาวุโส สถาบันนวัตกรรม ปตท. ในการพัฒนาวัสดุอัพไซเคิลจากหลอดพลาสติก นำมาเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ รวมถึงถ่ายทอดแบบและความรู้ให้กับชุมชน เพื่อเป็นการลดขยะ แบ่งเบาปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน
โครงการที่มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาขยะหลอดพลาสติก
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ได้มีโครงการรับบริจาคหลอดจากพนักงานในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบุคคลทั่วไป เพื่อนำมาทำเป็นหมอนป้องกันแผลกดทับสำหรับผู้ป่วย แต่พอใช้ไปนานๆ ตัวหมอนจะแฟบ จึงได้มีการคิดพัฒนาต่อเพื่ให้การอัพไซเคิลหลอดเป็นไปอย่างคุ้มค่าและยาวนานที่สุด “เราเห็นความตั้งใจของคนที่บริจาคหลอดมาเพื่อลดขยะและอยากจะทำให้เกิดประโยชน์จากการใช้หลอด เราก็เลยคิดว่ามันน่าจะทำอะไรได้อีก ไม่อยากให้เสียความตั้งใจของคนที่บริจาค เลยนำหลอดและเศษหลอดที่เกิดจาการตัดแล้วมาพัฒนาต่อเป็น Material ในการทำเป็น Products อื่นๆ ต่อไป” ดร.จิระวุฒิ จันเกษม นักวิจัยอาวุโส สถาบันนวัตกรรม ปตท. บอกถึงจุดเริ่มต้นโครงการ
ทางด้าน รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Scrap Lab) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่มีส่วนร่วมกับมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนมาเป็นเวลาหลายปี ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นความร่วมมือกันในการลดปัญหาขยะจากหลอดพลาสติก “ตอนแรกเลยเราทำหมอนกันแผลกดทับจากหลอดพลาสติกซึ่งขยะหลอดมันมีปัญหามากในช่วงนั้น เรามีหลอดที่ได้จากการรับบริจาคเยอะมาก เค้าล้างทำความสะอาดมาเป็นอย่างดีก่อนที่จะมาส่งให้เรา ตอนนั้นก็เริ่มทดลองกับผู้ป่วยตามโรงพยาบาลก่อน ซึ่งเรามีหมอนหลายชนิด หลายขนาด หลายความหนาแน่น ต่อมาเราพบว่าหมอนจากหลอดพลาสติกใช้ได้ประมาณ 10-11 ครั้ง มันก็จะเริ่มยุบตัว ต้องเปลี่ยนใหม่ เราก็เลยต้องหาวิธีการที่จะช่วยต่ออายุขยะจากหลอดพลาสติกให้มันใช้ได้ยาวนานขึ้น”
จุดประสงค์ของโครงการอัพไซเคิลจากหลอดพลาสติกนี้ ทางมูลนิธิพลังที่ยั่งยืนต้องการที่จะแปลงหลอดให้เป็นวัตถุดิบที่ชุมชนทำไปใช้ทำผลิตภัณฑ์อื่นได้ “ในช่วงแรกเราจะเน้นเทคนิคที่ชุมชนทำได้ เช่น การตัดหลอด การป่นหลอดเป็นชิ้นเล็กๆ การรีดเอง การ Laminate ต่างๆ เราพบว่าชุมชนทำได้แต่มันไม่ค่อยแข็งแรง เราจึงปรับแผนพัฒนาต่อ”
“เราทำงานกับทั้งมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน และ สถาบันนวัตกรรม ปตท. โดยทางศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นตัวเชื่อมในการออกแบบเป็นชิ้นงานขึ้นมา นี่คือจุดเริ่มต้นในการอัพไซเคิลหลอดพลาสติก ทำให้มันแข็งแรงขึ้น แปลงเป็นลักษณะอื่นๆ อย่าง เส้นกลม เส้นแบน เส้นรี ทำเป็นแผ่นให้แข็งแรงขึ้น แผ่นก็มีความหนาหลายขนาด เพื่อให้ชุมชนมี วัสดุหลากหลายในการสานกระเป๋า ตะกร้า และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งเรามีการปรับเส้นของวัตถุดิบมาเรื่อยๆ เส้นแบบนี้เจ็บมือเปลี่ยนเป็นเส้นแบบอื่น ให้มีความเหนียว ความอ่อนนุ่ม ความเบา ซึ่งก็มีทางทีมวิจัยของ ปตท. มาทดลองด้วยกัน ในขณะที่ทำเรื่องอัพไซเคิลหลอดเราก็คิดเรื่องหวายเทียมไปด้วยว่าการทำหวายเทียมน่าจะปรุงอย่างไรได้อีกบ้าง มีการคุยด้วยว่าเราใส่กากกาแฟไปได้ด้วยมั้ย เราทดลองหลายอย่างเพื่อให้ชุมชนได้เห็นด้วยเช่นกัน”
หลอดพลาสติก ขยะชิ้นเล็กแต่สร้างปัญหาใหญ่
ปัญหาจากหลอดพลาสติกส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมทางพื้นดินและทะเล รวมถึงสัตว์ต่างๆ เนื่องจากมันเป็นขยะชิ้นเล็กและไม่มีการบริหารจัดการที่ดี จึงทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ถ้าลองสังเกตตลาดของคาเฟ่ร้านกาแฟในประเทศไทยมีการเติบโตค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นผลที่ตามมาก็คือหลอดที่ใช้ดื่มชากาแฟเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้ของผู้บริโภค
“ถ้าพูดถึงหลอดหลายคนคงเห็นคลิปสุดสะเทือนใจที่หลอดเสียบจมูกเต่าทะเล ทำให้มีเจ้าหน้าที่ต้องช่วยกันเอาออก ซึ่งเหตุการณ์นั้นเป็นการเล่าปัญหาของหลอดพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจน เนื่องจากหลอดเป็นขยะชิ้นเล็ก เพราะฉะนั้นการที่คนจะนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจะไม่คุ้ม และยากกับการที่จะแยก ทำความสะอาด แค่หนึ่งหลอดมีน้ำหนักเพียงไม่กี่กรัม และมีต้นทุน วิธีการที่ซับซ้อนไม่คุ้มจึงทำให้ขยะชนิดถูกละเลย ด้วยความที่หลอดเป็นขยะชิ้นเล็ก เวลาอยู่ในทะเล สัตว์ทะเลไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือขยะ จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์” ดร.จิระวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ ดร.จิระวุฒิ ยังเล่าให้ฟังถึงกระบวนการทำหลอดซึ่งใช้เวลานาน แต่ใช้งานสั้น และยังใช้เวลาในการย่อยสลายนาน “จริงๆ แล้วผลิตภัณฑ์ที่เป็นกลุ่มพลาสติกทุกตัวขั้นตอนโดยทั่วไปเลย คือต้องทำเป็นเม็ดพลาสติกก่อน แล้วพอจะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบหลอดก็จะมีขบวนการขึ้นรูป พอขึ้นรูปเป็นหลอดเสร็จแล้วก็ค่อยเอาไปใช้งาน ลองนึกภาพว่ากว่าจะผลิตเป็นเม็ดพลาสติก และกว่าจะผลิตเป็นหลอดมันไม่ใช่ 5 นาที แต่พอเราใช้หลอดเราดูดน้ำหมดแก้วแล้วทิ้งมันใช้แล้วเพียงไม่กี่นาทีเอง เพราะฉะนั้นอายุการใช้งานของมันสั้นมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาการผลิตกว่าจะได้มาซึ่งหลอดหนึ่งอัน”
แนวทางในการพัฒนาวัสดุอัพไซเคิลจากหลอดพลาสติกใช้แล้ว
มูลนิธิพลังที่ยั่งยืนร่วมกับสถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จากัด (มหาชน) ร่วมศึกษาวิจัยพัฒนา แนวทางนำหลอดพลาสติกใช้แล้วปรับปรุงคุณสมบัติให้เกิดความยืดหยุ่นในรูปแบบวัสดุใหม่ (Upcycling) และศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เป็นวัสดุทดแทนวัสดุจากธรรมชาติ และร่วมกับ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบของชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนหวายธรรมชาติ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลด แยกขยะ พลาสติกให้กับชุมชน
ดร.สิงห์ อินทรชูโต ได้เล่าถึงการทำงานร่วมกับชุมชนให้ฟังว่า “เรามีการปรับขบวนการออกแบบให้เข้ากับชุมชนตลอดเวลา เพราะถึงแม้ชุมชนนั้นจะเก่งเรื่องสานก็อาจจะสานไม่ได้เนื่องจากไม่คุ้นกับวัตถุดิบ หรือวัตถุดิบสานได้ยาก เราจะเลือกชุมชนที่มีความถนัดในเรื่องการสานหลายๆ ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นที่อยุธยา นราธิวาส และหลายๆ แห่ง เพื่อดูว่าที่ไหนค้นพบเทคนิคการสานที่น่าสนใจเพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป”
“นอกจากนี้เรายังออกแบบสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับ Home Decoration ของตกแต่งบ้าน เพราะตอนนี้คน Work From Home กันเยอะขึ้น มีร้านคาเฟ่ต่างๆ มากขึ้น ซาลอนตัดผมก็มี ผลิตภัณฑ์แบบนี้น่าจะเข้าไปอยู่ตามที่ต่างๆ เหล่านั้นได้ เราก็เลยพยายามพัฒนาควบคู่ไปกับการทำกระเป๋า ให้ชุมชนได้ชิน แล้วเริ่มทำเป็นตะกร้าที่ใหญ่ขึ้น ตระกร้าที่ใส่ต้นไม้ ที่ใส่แจกัน และของแต่งบ้านอื่นๆ ให้เค้าเห็นว่าจากกระเป๋าที่เค้าคุ้นมันแปลงเป็นอะไรได้หลากหลายโดยใช้เทคนิคเดียวกัน”
ทางสถาบันนวัตกรรม ปตท. ได้เผยถึงความตั้งใจที่จะให้คนใช้ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบอัพไซเคิล กันอย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะ และยังมีการพัฒนาวัตถุดิบจากการ Upcycle ขยะ เพื่อนำมาทำเป็น Material ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อไป “ทางทีมพยายามที่จะเปลี่ยนหลอดทำเป็น วัสดุอัพไซเคิล ก่อน ที่มีความหนาไม่เยอะที่เหมาะกับการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์บางชนิด แล้วก็แปลงเป็นแผ่นที่มีความหนามากขึ้น เพื่อเพิ่มความ flexible ให้ทางทีมดีไซน์สามารถที่จะมี วัสดุ ไปออกแบบได้เยอะขึ้น ภาพที่เรามองเราอยากที่จะให้ไปถึงชุมชนว่าสามารถรับมือกับ วัสดุ แบบไหนได้บ้าง”
ขยะจากหลอดพลาสติกลดลง ชุมชนมีรายได้ ประโยชน์สองต่อ ดีกับทั้งสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน โครงการต่ออายุหลอดพลาสติกเพื่อพัฒนาเป็นวัสดุอัพไซเคิล นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเป๋า ตระกร้า ที่ใส่ของ ป้ายห้อยคอ ตู้ใส่รองเท้า และของตกแต่งบ้าน จะทำให้ในชุมชนมีการรณรงค์ในเรื่องของการแยกขยะ ช่วยในการจัดการขยะ และยังเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนด้วย
เรื่อง Upcycling นั้นเป็นเรื่องของความยั่งยืน และการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนเป็นเรื่องของคนทุกคน จะดีขนาดไหน ถ้ามีผลิตภัณฑ์หรือ วัสดุจากขยะตัวใหม่ๆ ออกมา แล้วเกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งชุมชนไม่ใช่แค่ชุมชนเดียว แต่เป็นหลายๆ ชุมชนซึ่งจะเพิ่มโอกาส เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดได้ นอกจากนี้โครงการนี้ยังให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาวัตถุดิบ โดยอธิบายการใช้งานให้กับทางทีม เพื่อเป็นโจทย์ในการพัฒนาต่อไป
โครงการนี้สร้างความตระหนักรู้ให้คนให้ความสำคัญกับการจัดการขยะและนำมาพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด และการระยะเวลาการดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบันพบว่าสามารถลดขยะหลอดพลาสติกได้ประมาณ 1,276,000 หลอด หรือ 646 กิโลกรัม และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 839.8 kgCO2e/kg หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 93 ต้น เลยทีเดียว