กรมควบคุมโรคเตือนประชาชนระวังอันตรายจากโรคพิษสุนัขบ้า หากถูกสุนัขหรือแมวกัดต้องรีบพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนภายใน 2 วันทันที ขณะที่กรมปศุสัตว์ขอให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงมาตรวจหาเชื้อเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
จากที่มีผู้เสียชีวิตถึง 3 รายจากโรคพิษสุนัขบ้า และกรมปศุสัตว์ได้ประกาศเขตระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ จ.สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ ให้เป็นพื้นที่น่าเป็นห่วง "โซนสีแดง" และพื้นที่เฝ้าระวัง "โซนสีเหลือง" อีก 42 จังหวัด
ล่าสุดนายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า นั่นคือประชาชนไม่นำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีน และขาดความตระหนักถึงวิธีการป้องกันการติดเชื้อ จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันการแพร่ระบาดโรคพิษสุนัขบ้า ตามพื้นที่ ที่มีการแพร่ระบาดเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายของโรคนี้อย่างใกล้ชิด
จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่ามีสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมว ติดเชื้อแล้วจำนวน 247 ตัว ซึ่งสูงกว่าปีก่อนถึง 1.5 เท่า และหากพบว่าสัตว์เลี้ยงของตนเองมีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะการสัมผัสกับ “น้ำลาย” ของสัตว์ตัวอื่นที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า จะทำให้พบอาการป่วยใน 3 ระยะด้วยกัน
โดย"ระยะเริ่มแรก" สัตว์เลี้ยงจะแยกตัว,ไม่ยอมเล่นกับเจ้าของเหมือนปกติ , มีอาการหงิดหงิด, ม่านตาขยาย ไม่ตอบสนองต่อแสงประมาณ 2 – 3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2
ส่วนระยะที่ 2 คือ "ระยะตื่นเต้น" สัตว์เลี้ยงจะมีอาการกระวนกระวาย ตื่นเต้น , ดุร้าย , กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า, มีเสียงเห่าหอนที่ผิดปกติ ลิ้นห้อย น้ำลายไหล ประมาณ 1 – 7 วัน
ส่วนระยะสุดท้าย คือ "ระยะอัมพาต" สัตว์เลี้ยงจะมีอาการขาอ่อนเปลี้ย ลุกไม่ขึ้น เป็นอัมพาตทั้งตัว ก่อนจะตายในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคยังฝากเตือนประชาชนให้ปฏิบัติตัวอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะกรณีที่ถูกสุนัขและแมวกัดให้รีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนภายใน 2 วัน และต้องกักสุนัขหรือแมว ตัวที่กัดไว้สังเกตอาการเป็นเวลา 10 วัน หากพบว่าสัตว์เลี้ยงตัวนั้นตาย ต้องรีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ให้ทราบทันที