svasdssvasds

นายกฯ โดดป้อง "แพทองธาร" แค่สะท้อนความเห็นประชาชน ปัดบีบแบงก์ชาติ

นายกฯ โดดป้อง "แพทองธาร" แค่สะท้อนความเห็นประชาชน ปัดบีบแบงก์ชาติ

"นายกฯ" ยัน "แพทองธาร" ไม่บีบแบงก์ชาติ ระบุปมฟื้นเศรษฐกิจบนเวที 10 เดือนเพื่อไทย แค่สะท้อนความเห็น จ่อคุย "รมว.คลัง" ประสานทำงาน ไม่อยากขัดแย้ง

วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวบนเวทีงาน 10 เดือนที่ไม่รอทำต่อให้เต็ม 10 ที่ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นเศรษฐกิจ ว่า เป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า

ทั้งนี้ตนเข้าใจในความอิสระของแบงก์ชาติ มั่นใจว่าทำงานร่วมกัน และให้เกียรติมาโดยตลอด เมื่อมีข้อเรียกร้อง จึงได้เรียกร้องและพูดคุย เรื่องดอกเบี้ยที่เห็นว่าควรต้องปรับลดลง แต่ผู้ว่าแบงก์ชาติมีเหตุผลไม่ปรับลด จากนี้รัฐบาลจึงต้องเดินหน้าพูดคุยกับ 4 ธนาคารใหญ่เพื่อให้ลดดอกเบี้ยลง ซึ่งเชื่อว่าเป็นการทำงานยึดโยงกับประชาชนจากที่ลงพื้นที่ ซึ่งตนเองรับฟังมาโดยตลอด และการลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ดก็จะรับฟังปัญหาดังกล่าวต่อไป

ความเป็นอิสระก็เรื่องหนึ่ง แต่ต้องไม่ลืมว่าการมาอยู่ตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ สถาบันการเงินนักการเมือง เรามาอยู่เพื่อประชาชน แต่วิธีการแก้ไขปัญหาข้อแตกต่างกันไป ทุกคนมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์กันได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

ทั้งการแก้ไขหนี้นอกระบบ การคุยกับธนาคารเอกชน ที่ได้ลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว เพราะแม้จะลด 25 หรือ 50 สตางค์ ก็มีส่วนช่วยประชาชนได้ จึงเชื่อว่า จะสามารถยึดโยงกับประชาชนได้ และในการลงพื้นที่ทั้งในวันนี้ (5 พ.ค.) และพรุ่งนี้ (6 พ.ค.) ที่มหาสารคาม และร้อยเอ็ด รวมถึงในปลายสัปดาห์ ที่สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี ตนก็จะรับฟังปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ต่อไป เพราะไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ สถาบันการเงิน นักการเมือง สส. ผู้บริหารพรรคฯ ก็ต่างมาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ประชาชน ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหา ก็อาจจะแตกต่างกันไป และทุกคนมีสิทธิวิจารณ์วิจารณ์กันได้ แต่ขอให้ยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก และนำความเดือดร้อนของประชาชน มาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา

ส่วนการแสดงวิสัยทัศน์จากเวทีดังกล่าวทำให้ฝ่ายค้านมองรัฐบาล พยายามบีบผู้ว่าฯ ธปท.ให้เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ตนเองไม่เคยบีบ และสามารถไปฟังจากคำแสดงวิสัยทัศน์ได้ เพราะเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชน ถึงการแก้ไขปัญหา

ส่วนกังวลหรือไม่ที่เมื่อมีการวิจารณ์วิจารณ์ดังกล่าวออกมาแล้ว จะทำให้การทำงานระหว่างรัฐบาล กับ ธปท.ห่างเหิน นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ตนเองมีความกังวลทุกเรื่อง เพราะตนเองก็ไม่อยากให้มีความขัดแย้ง และตนเองพยายามแก้ไขปัญหาในส่วนที่ตนสามารถทำได้ และเชื่อว่า คำแนะนำของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่า ธปท.ที่เคยได้แนะนำมาว่า การประสานงานระหว่างรัฐบาล กับ ธปท.ควรกระทำผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร.ที่เป็นหน่วยงานของกระทรวงการคลัง จึงจะมีการพยายามพูดคุยกันต่อไป พร้อมย้ำว่า รัฐบาลให้เกียรติทุกองค์กร 

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงโอกาสการพบเจอกับผู้ว่า ธปท.อีกครั้งว่า หากมีโอกาสก็จะได้พบ แต่ผู้ว่าฯ ธปท.ได้ขอให้พูดคุยผ่าน สคร.ซึ่งหลังจากนี้ ตนเองก็จะไปหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ว่า จะมีการประสานงานช่องทางใดซึ่งมีหลายช่องทาง เพื่อพูดคุยกับผู้ว่า ธปท.ได้บ้าง และยืนยันว่า รัฐบาลพยายามทำงานกับทุกคนองค์กรให้ดีขึ้น ไม่สร้างความขัดแย้งจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน

"ภูมิธรรม" ป้อง "อุ๊งอิ๊งค์" ซัด "แบงก์ชาติ" ไม่ใช่องค์กรที่แตะต้องไม่ได้

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Phumtham Wechayachai" ระบุว่า...

“แบงค์ชาติ” ไม่ใช่องค์กร 
หรือสถาบันที่ “ประชาชน” จะกล่าวถึงหรือ “วิพากษ์ วิจารณ์ ”
หรือ “แตะต้อง” ไม่ได้

สำหรับผมคือการแสดงออกอย่างเปิดเผย จริงใจ และห่วงใยที่แบงค์ชาติยังยืนยันที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างเดิมโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ ซึ่งประชาชน (ที่เป็นลูกหนี้แบงค์และประชาชนทั่วๆไป) กำลังเผชิญชีวิต ดิ้นรนอยู่ภายใต้ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซ้ำเติมชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างแสนสาหัส

สื่อมวลชนเองก็รับรู้กระแสข่าวเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ความคิดของคนในสังคมต่อประเด็นนี้ก็มีความหลากหลาย และประเด็นการตัดสินใจของแบงค์ชาติก็เป็นกระแสความเห็นต่างกันอย่างกว้างขวางในสังคม

แต่แปลกใจว่าทำไมเมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยสะท้อนความคิดบ้าง จึงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ แบบมุ่งโจมตีด้วยอคติอย่างไร้เหตุผล

การแสดงความเห็นต่อกรณีแบงค์ชาติในวันประชุมของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกำลังทำหน้าที่สะท้อนความเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาต่อแบงค์ชาติ ในฐานะที่องค์กรนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาและดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ 

ความเห็นดังกล่าวมีนัยยะที่สะท้อนถึงความห่วงใยต่อผลกระทบจากภาระทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งกำลังเดือดร้อน และแบกรับความยากลำบากอยู่ 

ท่าทีของการแสดงความคิดทางการเมืองของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจึงเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย และสำนึกความรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอในเวทีของพรรคการเมือง ประกอบด้วยกรรมการและสมาชิกพรรค ที่ต่างต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการแสวงหาแนวทาง มาตรการ ทางเลือก เพื่อช่วยกันคิด และจัดการภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

จึงเป็นสิทธิที่สามารถพูดได้ ออกความเห็นได้ และเป็นเรื่องที่พึงกระทำได้  ไม่ว่าจะในฐานะพลเมือง หรือหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีความห่วงใยประชาชน ห่วงใยบ้านเมือง ผมเห็นว่าการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจในครั้งนี้จะเป็นการกระตุกให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องได้ช่วยกันคิด ไตร่ตรองหาเหตุผลให้เห็นทางออกมากขึ้น

ความเป็นจริง แบงค์ชาติไม่ใช่สถาบันที่อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่องค์กรที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ตรงข้าม แบงค์ชาติคือกลไกของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ที่ประชาชนทุกฝ่ายเข้าถึง เสนอความคิดเห็นได้

แม้จะมีขอบเขตหน้าที่หลักทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงค์ชาติไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง และชีวิตของประชาชน

การที่ประชาชนทั่วไปหรือพรรคการเมืองกล่าวถึงแบงค์ชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เสนอความเห็นต่อแบงค์ชาติ ก็ ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นการเสนอเพื่อให้มุมมองทางเลือกอื่นๆที่เหมาะสมมากกว่าในบริบทสถานการณ์ที่เป็นอยู่

การที่สื่อบางบุคคล บางสำนักมีอคติต่อพรรคเพื่อไทย และนำความเห็นบางส่วนของหัวหน้าพรรคมาวิพากษ์อย่างรุนแรง และขยายความตามอคติของตนบวกด้วยการใส่สีตีข่าว เป็นการทำข่าวด้วยอคติมากกว่าข้อเท็จจริง 

ผมเฝ้ามองคนข่าวหรือสำนักข่าวบางคนบางส่วน ที่ยังติดยึดอยู่กับอคติเดิมแล้วการใช้พื้นที่ข่าวของตนเป็นพื้นที่ละเลงอคติและขยายความขัดแย้งอยู่เนืองๆ ก่อและปั่นกระแสขัดแย้งในสังคม โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว 

ผมขอยืนยันว่า กรณีแบงค์ชาติยังเป็นประเด็นที่สังคมยังสะท้อนความเห็นและสื่อสารกันได้ โดยใช้ความรู้และปัญญาที่รอบด้านมากกว่าการใช้จินตนาการที่มีแต่อคติ  เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related